เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้คณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างมีมติเห็นชอบให้แก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ว่าด้วยการจ่ายเงินสงเคราะห์ อัตราเงินที่จะจ่าย และระยะเวลาการจ่ายกรณีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 Coronavirus Disease (COVID-19) พ.ศ.2564 โดยปรับเพิ่มอัตราเงินสงเคราะห์ดังนี้

(1) กรณีนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยให้ปรับการจ่ายเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม คือ “จาก 30 เท่า เป็น 60 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วันแต่ไม่ครบ 3 ปี และปรับแก้การจ่ายเงิน จาก 50 เท่า เป็น 80 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี และจาก 70 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ สำหรับลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป”

(2) กรณีเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย ให้ปรับเงินสงเคราะห์จากอัตราเดิม คือ “60 เท่า เป็น 100 เท่าของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” ระเบียบนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2564 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ลูกจ้างที่เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างฯ จากสาเหตุนายจ้างประสบปัญหาทางการเงินเพราะโรคโควิด-19 สามารถขอรับเงินสงเคราะห์เพิ่มเติมได้ที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานคร พื้นที่ 1-10 ได้แล้ว

นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง กล่าวว่า ลูกจ้างที่ถูกนายจ้างเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยหรือไม่จ่ายเงินอื่นนอกจากค่าชดเชย ได้แก่ ค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด และค่าล่วงเวลาในวันหยุด เป็นต้น เพราะเหตุที่นายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป สามารถมายื่นเรื่องขอรับเงินสงเคราะห์เพิ่มเติมได้ ในเบื้องต้นได้กำหนดกรอบระยะเวลาไว้ระหว่างวันที่ 1 มี.ค. 2563-28 ก.พ.2565 ทั้งนี้หากการระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลกระทบรุนแรงต่อการประกอบกิจการของสถานประกอบกิจการ คณะกรรมการกองทุนฯ อาจพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ระเบียบนี้ต่อไป.