เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงสถานการณ์โรคโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน ในประเทศไทย ว่า ต้นเดือน พ.ย.พบครั้งแรกที่บอตสวานา และพบจำนวนมากที่แอฟริกาใต้ ก่อนกระจายไปทั่วโลก องค์การอนามัยโลกได้จัดเป็นสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวลตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย. ขณะนี้ติดเชื้อใน 89 ประเทศแล้ว อาจจะมีมากกว่านี้เนื่องจากบางประเทศอาจจะไม่ได้มีความสามารถในการถอดรหัสพันธุกรรม 3 สายพันธุ์ BA 1, BA 2 และ BA 3 อย่างไรก็ตามพื้นฐานยังมีเป็น BA 1 ในส่วนของประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการตรวจสายพันธุกรรม 5 ตำแหน่งนั้น ยืนยันว่ายังสามารถตรวจเจอได้

สำหรับความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วแค่ไหนนั้นมีข้อมูลค่อนข้างสรุปแล้วว่า หากไม่มีภูมิคุ้มกันเลยจะแพร่เชื้อได้มาก โดยจากเดิมเชื้ออู่ฮั่น 1 คน แพร่ต่อได้ 2.5 คน สายพันธุ์เดลต้า 1 คน แพร่เชื้อต่อได้ 6.5 คน ส่วนสายพันธุ์โอไมครอน 1 คน สามารถแพร่ต่อได้ 8.45 คน แปลว่าเร็วกว่าสายพันธุ์เดลต้า  และสุดท้ายจะเบียดเดลต้าแต่อาจจะใช้เวลา ขณะที่ความรุนแรงของโอไมครอน จากข้อมูลในแอฟริกาพบว่า ข้อมูลการป่วยหนักนอนโรงพยาบาลจนถึงเสียชีวิตนั้นไม่ได้ส่งผลให้กราฟชันไปกว่าของเดิม ตรงนี้ยังมีข้อมูลจำกัดว่าตกลงแล้วโอไมครอนร้ายแรงในการทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตมากกว่าเดิมได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก ระบุชัดว่ามีผลต่อประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง แต่ไม่กระทบต่อ T Cell ซึ่งเป็นกลไกของร่างกายในการต่อสู้กับเชื้อโรค ทั้งนี้วัคซีนที่เป็น Booster dose จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหรือประสิทธิผลของวัคซีนชัดเจนดังนั้นประเทศไทยจึงมีการกระตุ้นให้ประชาชนมารับวัคซีนเข็ม 3 จึงเป็นนโยบายที่ถูกต้องและจะช่วยให้ลดปัญหาลง ประเทศไทยพบติดเชื้อโอไมครอน 63 ราย คิดเป็น 3% เป็นคนเดินทางมาจากประเทศ ทั้งนี้ 1 ใน 4 ผู้เดินทาง ตรวจ RT-PCR จะเจอโอไมครอน ถือว่าค่อนข้างเร็ว ทั้งนี้ยังมีความเชื่อมโยงกับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ยังไม่พบผู้ติดเชื้อตั้งต้นในไทย.