นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดผลิตรถยนต์ในเดือน พ.ย. อยู่ที่ 165,353 คัน สูงสุดในรอบ 12 เดือน หรือ 1 ปี แต่ยังติดลบ 4.12% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ 11 เดือน (ม.ค.-พ.ย.) ผลิตรถยนต์ได้ 1.53 ล้านคัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 19.26% ส่งผลให้ทั้งปีมั่นใจว่ายอดผลิตรถยนต์จะสูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ที่ 1.6 ล้านคันอย่างแน่นอน

โดยยอดการผลิตในเดือน พ.ย. ที่เพิ่มขึ้นนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากในเดือน ธ.ค. จะมีช่วงวันหยุดค่อนข้างมาก ทำให้ในเดือน พ.ย. ต้องผลิตเผื่อทั้งงานมหกรรมยานยนต์ และผลิตเผื่อในช่วงที่จะมีวันหยุดยาวด้วย ด้านยอดขายในประเทศในเดือน พ.ย. อยู่ที่ 71,716 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.2% ขณะที่ 11 เดือน มียอดจำหน่ายรถยนต์อยู่ที่ 668,520 คัน ลดลง 2.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

อย่างไรก็ตาม ส.อ.ท. มั่นใจว่าปีนี้จะสามารถจำหน่ายรถยนต์ได้ตามเป้าหมายที่ 750,000 คันอย่างแน่นอน โดยได้รับอานิสงส์จากงานมหกรรมยานยนต์ การคลายล็อกดาวน์ของรัฐบาล ส่งผลให้ประชาชนกล้ากลับมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น รวมถึงการออกมาตรการเยียวยาที่ครอบคลุมทุกเครือเรือน การประกันรายได้ ทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ส่วนการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในเดือน พ.ย. อยู่ที่ 98,829 คัน เพิ่มขึ้น 32.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมมูลค่าการส่งออกกลุ่มรถยนต์อยู่ที่ 80,470.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29.09% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกตลาด เพราะประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถกระบะที่ส่งออกไปกว่าร้อยประเทศ จึงส่งออกได้เพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ด้าน 11 เดือน ส่งออกได้ 857,887 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 28.55% ส่งผลให้ทั้งปียอดส่งออกทะลุเป้าหมายที่วางไว้แล้วที่ 850,000 คัน โดยในปีนี้คาดว่าจะส่งออกได้ถึง 900,000 คันได้แน่นอน

ส่วนการจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนใหม่ (ป้ายแดง) ในประเทศ ในเดือน พ.ย. จำหน่ายได้ 171 คันเพิ่มขึ้น 140.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รวม 11 เดือน จำหน่ายได้ 1,804 คัน เพิ่มขึ้น 49.8% สำหรับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสม ถึง ณ 30 พ.ย. พบว่า มีรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) 3,859 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 92.66% ด้านรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสม (HEV) อยู่ที่ 185,113 คันเพิ่มขึ้น 10.75% ด้านรถจักรยานยนต์ในเดือน พ.ย. ผลิตได้ 231,632 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.23% ขณะที่ 11 เดือน ผลิตได้ 2.09 ล้านคัน

ส่วนยอดขายในประเทศในเดือน พ.ย. อยู่ที่ 144,648 คัน เพิ่มขึ้น 20.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ 11 เดือน มียอดขาย 1.46 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การส่งออกรถจักรยานยนต์ในเดือน พ.ย. อยู่ที่ 81,029 คันเพิ่มขึ้น 20.47% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ 11 เดือน รวม 880,289 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 35.7%

สำหรับปี 65 ส.อ.ท. ตั้งเป้ายอดผลิตรถยนต์อยู่ที่ 1.7-1.8 ล้านคัน โดยจะเป็นขายในประเทศ 800,000-850,000 คัน และส่งออก 900,000-950,000 คัน แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธ์ุโอไมครอนที่ยังต้องติดตาม รวมถึงสถานการณ์การขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนที่ยังเป็นปัจจัยเสี่ยง

ส่วนมาตรการสนับสนุนการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) นั้นยอมรับว่า ปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าราคายังสูงอยู่ที่ระดับ 1-2 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ใช่ตลาดของคนส่วนใหญ่ โดยหากเทียบกับรถยนต์สันดาป หรือ ที่ใช้น้ำมัน ราคาจะอยู่ที่ประมาณ 800,000 บาทเท่านั้น ดังนั้นหากภาครัฐอยากสนับสนุนให้หันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า จะต้องมีมาตรการดังในด้านภาษี และด้านราคา เพื่อดึงให้ราคาถูกลง

นายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า มาตรการสจับตามาตรการสนับสนุนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ยังต้องติดตาม เพราะยังไม่มีรายละเอียดออกมา โดยหากรัฐจะสนับสนุนทั้งการใช้และการผลิต อัตราภาษี 0% คงไม่เพียงพอ ต้องสนับสนุนในด้านราคา เพื่อให้ราคาใกล้เคียงกับราคาน้ำมันด้วย ขณะเดียวกัน ภาครัฐ กรมสรรพสามิต อยู่ระหว่างหามาตรการต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องของการเก็บภาษีรถเก่า การเก็บภาษีจากการปล่อย CO2 เป็นต้น เพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถอีวี แทนรถยนต์สันดาป