เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้เปิดตัวโครงการออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพ ระยะที่หนึ่ง เพื่อช่วยฟื้นฟูและช่วยเหลือประชาชน ผู้ตกงานหรือขาดรายได้ เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโควิด โดยได้มีการร่วมกับกรุงเทพมหานคร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) และสถาบันอุดมศึกษา เข้าไปช่วยเหลือแบบครบวงจร ให้ทั้งทักษะความรู้ แหล่งเงินทุน อุปกรณ์ทำมาหากิน และให้พื้นที่ค้าขาย  

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า ธนาคารได้เตรียมเงินทุนสนับสนุนโครงการออมสิน สร้างงาน สร้างอาชีพไว้ 5,000 ล้านบาท พร้อมกับให้ทักษะ เงินทุน อุปกรณ์ และพื้นที่ค้าขาย โดยตั้งเป้าหมายจะส่งเสริมให้ผู้ที่เดือดร้อน หรือที่ตกงานได้กว่า 7 หมื่นราย พร้อมเงื่อนไขพิเศษ ดอกเบี้ย 3.99% นาน 5 ปี ปลอดชำระ 6 งวดแรก และมีวงเงินให้กู้รายละไม่เกิน 50,000 ถึง 300,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 66,000 ราย  

“สิ่งสำคัญของโครงการนี้ ไม่ใช่แค่การสนับสนุนเงินกู้ หรือดอกเบี้ยต่ำแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะเน้นการช่วยเหลือ เพื่อให้สร้างงานสร้างอาชีพได้จริง โดยมีการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 18 แห่ง สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) มหาวิทยาลัยในโครงการยุวพัฒน์รักถิ่น 64 แห่ง กว่า 900 ชุมชน และเครือข่าย เชฟชื่อดังระดับมิชลินสตาร์ ตลอดจนเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ ในการช่วยกันฝึกอบรมและสร้างทักษะอาชีพแก่ประชาชนรวมกว่า 100 หลักสูตร เช่น การให้เชฟมิชลินช่วยอบรมแก่ชุมชน ในการสร้างอาหารเมนูพิเศษ ที่สร้างเอกลักษณ์และเป็นจุดขายประจำท้องถิ่น”

นอกจากนี้ ยังได้ร่วมมือจากกรุงเทพมหานคร และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. สนับสนุนอุปกรณ์ และให้พื้นค้าขาย เช่น มอบรถเข็น เต็นท์ ร่ม และพื้นที่ค้าขาย แก่ผู้ประกอบการร้านค้ารายย่อย ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครกว่า 3,300 ร้านค้า รวมถึงการให้ใช้พื้นที่ของสาขาธนาคารออมสิน สำนักงานภาค หรือ สำนักงานเขต จัดเป็นตลาดนัดออมสิน เปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้า ผู้ประกอบการรายย่อย ตั้งแผงค้าขายสินค้าได้ และสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์สินค้า ร้านค้า ผ่านช่องทางออนไลน์ ภายใต้โครงการตลาดนัดออนไลน์ ช่องทาง คือ เพจเฟซบุ๊ก ตลาดนัดออมสิน เป็นต้น

นายวิทัยกล่าวว่า การอบรมอาชีพที่จะช่วยให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการมีความรู้ติดตัว สามารถใช้ประกอบอาชีพได้จริงต่อไป จากนั้นธนาคารจะให้เงินทุน ผ่านมาตรการสินเชื่อสร้างงานสร้างอาชีพ ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ชดเชยความเสียหายหนี้เสีย 30% ของวงเงิน ทำให้ธนาคารปล่อยกู้ด้วยเงื่อนไขที่ผ่อนปรนยิ่งขึ้น โดยหากเป็นผู้มีวิชาชีพอยู่แล้ว ก็จะได้รับเงินกู้ไว แต่ถ้ายังไม่มีวิชาชีพ ก็สามารถเข้าอบรมวิชาชีพต่างๆ ก่อนได้ โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ก็ได้รับวงเงินสินเชื่อ