ประเทศไทยใน ปี 2564 แม้เป็นอีกปีที่โรคระบาดอย่าง “โควิด-19” ยังพ่นพิษ แต่ในสนามการเมืองยังมีข่าวคราวความเคลื่อนไหวที่มากด้วยสีสัน ทั้งความเป็นไปในฝ่ายรัฐบาล เกมการเมืองในรัฐสภาและนอกสภา หรือแม้แต่ชะตากรรมของนักการเมือง ซึ่ง “ทีมข่าวการเมืองเดลินิวส์” ได้สรุป 6 เหตุการณ์ดุเด็ดเผ็ดร้อน ในรอบปีวัว

 เกมโค่น “บิ๊กตู่” สู่รอยร้าว “3 ป.”

นับเป็นเกมชิงไหวชิงพริบสุดฮือฮา เมื่อกลุ่ม “4 ช.” ใน พรรคพลังประชารัฐ  (พปชร.) นำโดย “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค เปิดปฏิบัติการเกมล้มโต๊ะ “บิ๊กตู่” พล.อ. ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ด้วยการ แจกกล้วย ระดมเสียง ส.ส.โหวตคว่ำในศึกซักฟอก “บิ๊กตู่” เเละ 5 รัฐมนตรี เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา หวังเปลี่ยนดุลอำนาจการเมืองภายใน พปชร. แต่ “บิ๊กตู่” สู้ยิบตา มีนายทุนช่วยหนุน ทำให้คะแนนผ่านฉลุย ก่อนเอาคืนด้วยการปลดฟ้าผ่าดีดทั้ง “ร.อ.ธรรมนัส” และ “นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์” พ้นจาก เก้าอี้รัฐมนตรี แต่ยังลุกลามเกิดเอฟเฟกต์ กบฏธรรมนัส ที่ขน ส.ส.แห่ร่วมลงพื้นที่กับ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้า พปชร. หวังให้แข่งบารมีกับผู้นำรัฐบาล   

แต่ที่สาหัสกว่า คือ รอยร้าวสายสัมพันธ์ “3 ป.” ระหว่าง “บิ๊กป้อม-บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย แม้โชว์ภาพ “3 ป.ฟอร์เอเวอร์” แต่ในความจริง “พี่ใหญ่” ยังอุ้มชู “ผู้กองคนดัง” อีกทั้ง การทำงานของ พี่ใหญ่กับน้องเล็ก ยังเป็นแบบคู่ขนาน ขณะที่หนทาง “บิ๊กตู่” ก็ตีบตัน แม้มีข่าวจ่อตั้งพรรคใหม่ แต่ก็ยังยากจากการแก้กฎหมายให้การเลือกตั้งใช้บัตร 2 ใบ กระทบพรรคเล็กและพรรคใหม่ ดังนั้นปี 2565 หากสายสัมพันธ์ “3 ป.” ยังแน่นปึ้ก แล้ว “บิ๊กป้อม” จะจัดการปม “ธรรมนัส” อย่างไร เพราะถ้ายังนิ่งเฉย สุดท้ายก็คงเป็นละครตบตารักษาอำนาจ

 วิบากกรรม “ก้าวไกล” ซ้ำรอย “อนาคตใหม่”?

หลัง ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของแกนนำ ม็อบราษฎร ทั้ง อานนท์ นำภา-ภาณุพงศ์ จาดนอก-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กรณีการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ชู 10 ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบัน เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ตามที่ ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลฯ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 

ผลจากคดีนี้ส่อแววว่าอาจสั่นสะเทือนถึง พรรคก้าวไกล เพราะ ณฐพร ยื่นคำร้องไว้เมื่อเดือน ก.พ. 2564 ให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัยว่าพรรคนี้กระทำผิดกฎหมายพรรคการเมือง เพราะร่วมชุมนุมและประกันตัวผู้ชุมนุม แถมได้ยื่นแก้ไข ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และขอให้ กกต. เสนอศาลฯ สั่งยุบพรรค โดยหวังว่าจะนำคำวินิจฉัยของศาลฯ กรณี ม็อบราษฎร ใช้เป็นสารตั้งต้นมายุบ พรรคก้าวไกล จึงต้องจับตาว่าในปีใหม่ “ก้าวไกล” จะเจอชะตากรรมซ้ำรอยอดีต “อนาคตใหม่” หรือไม่

“เพื่อไทย” เจาะกลุ่มวัยรุ่นสู่แลนด์สไลด์ 

พรรคเพื่อไทย สร้างปรากฏการณ์สุดปังด้วยการเปิดตัว “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ทายาทคนสุดท้องของ “พี่โทนี่ วู้ดซัม” นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มาร่วมทัพในฐานะ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม หวังสร้างความเชื่อมโยง เปิดทางให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงบทบาท พร้อมใช้ช่องทางสื่อโซเชียลเจาะฐานเสียงเพิ่มในกลุ่มวัยรุ่น ล้วนเป็นแผนมุ่งหน้าสู่เป้าหมาย เพื่อไทยแลนด์สไลด์

ดาวร่วงทางการเมือง

กลายเป็นอีกปีที่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองกับบรรดานักการเมืองหลายต่อหลายคน จนต้องหลุดจากตำแหน่งในสภา เปรียบเหมือน “ดาวร่วง” ทางการเมือง โดยเริ่มตั้งแต่กรณีของ เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. จากคำตัดสินศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ในคดีร่วมกระทำผิดทุจริตเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2557 ตามมาด้วยกรณีของ “5 ส.ส. อดีตแกนนำ กปปส.” ซึ่งประกอบด้วย ชุมพล จุลใส ส.ส.ชุมพร พรรคประชาธิปัตย์, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ, อิสสระ สมชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์, ถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ และ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ ส.ส. จากการถูกจำคุกในคดีการชุมนุมกลุ่ม กปปส. เมื่อปี 2557 และส่งท้ายปีด้วยกรณี สิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ ที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. จากการต้องคำพิพากษาถึงที่สุดเกี่ยวกับคดีฉ้อโกง ซึ่งเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต

นอกจากนั้นยังมีนักการเมืองอีกหลายคนที่ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างที่คดีอยู่ในชั้นศาล อาทิ ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ จากคดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนในจังหวัดราชบุรี, วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปพร้อมกับภรรยา และน้องภรรยา จากคดีทุจริตสร้างสนามฟุตซอล และ อนุรักษ์ ตั้งปณิธานนท์ ส.ส.มุกดาหาร พรรคเพื่อไทย จากคดีกรณีการเรียกรับเงินเพื่อแลกกับการผ่านงบประมาณ ซึ่งนักการเมืองเหล่านี้ก็ยังต้องลุ้นในปี 2565 กันต่อไปว่าจะ “รอด” หรือจะ “ร่วง”

 ม็อบเหิมหนักรุกไล่รัฐบาล

การชุมนุมของกลุ่ม ราษฎร และแนวร่วมต่าง ๆ ยังดำเนินต่อเนื่อง แม้ไม่คึกคักหรือรวมพลได้บึ้ม ๆ เหมือนเก่าก่อน เพราะเหล่าแกนนำหลักตัวจี๊ด ๆ ทั้ง ทนายอานนท์ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ รุ้ง ปนัสยา ไมค์ ภาณุพงศ์ และ ไผ่ ดาวดิน“ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา แกนนำกลุ่มทะลุฟ้า ต่างเข้า ๆ ออก ๆ เรือนจำ บางคนต้องอยู่ยาวด้วยสารพัดคดีที่สืบเนื่องมาจากการชุมนุม แต่ยังพยายามนัดชุมนุมผ่านสื่อโซเชียลเป็นระยะ ๆ จนเมื่อช่วงเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา มีการรวมตัวชุมนุมขับไล่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเคลื่อนขบวนบุกไปยังบ้านพักของนายกฯ ที่ ร.1 รอ. แต่ถูกสลายอย่างหนักด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง จึงมีการโต้กลับด้วยการเผารถควบคุมผู้ต้องหาและทำลายป้อมตำรวจบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ เป็นจุดก่อกำเนิดของ กลุ่มทะลุแก๊ส ที่ทำให้ย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ และสามเหลี่ยมดินแดงกลายเป็นสมรภูมิอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งนี้ สมยศ พฤกษาเกษมสุข หนึ่งใน แกนนำราษฎร บอกว่าปี 2565 จะเป็นปีทองของม็อบ จึงต้องรอชมว่าการเมืองบนท้องถนนจะแผ่วหรือจะกลับมาพีคอีกครั้ง

พายุ “โควิด” พ่นพิษการเมือง

ผลจากการคุม โรคโควิด-19 เมื่อปี 2563 ได้อยู่หมัด ทำให้ “เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ได้แต้มเต็ม ๆ จนเกิดวาทกรรม โควิดกระจอก แต่แล้วเมื่อกลางปีที่ผ่านมา เจ้าไวรัสร้ายได้ระดมเชื้อหลายสาย
พันธุ์อาละวาดทั่วประเทศและทั่วโลก ทำให้ปี 2564 กลายเป็นปี “โคขวิด” พ่นพิษให้ผู้คนทุกข์ระทม แถมขย่มซ้ำทำรัฐบาลเสียหน้า เสียคะแนนนิยม เสียศูนย์การควบคุมสถานการณ์ จน “พล.อ.ประยุทธ์” นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ตัดสินใจดึงอำนาจควบคุมโรคมาอยู่ในมือ เกิดเสียงวิจารณ์อื้ออึงว่า “พี่ตู่-น้องหนู” แตกคอกัน แต่ถึงอย่างไรก็สามารถนำพาสถานการณ์สู่การควบคุมเจ้าเชื้อร้ายได้ ลดยอดติดเชื้อและยอดเสียชีวิตรายวันลงชัดเจน แต่สงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งนับศพทหาร เพราะไม่ทันจะพ้นปี สายพันธุ์ใหม่ โอมิครอน โผล่โจมตีอีกจนได้  

อีกด้านหนึ่งของพิษ โควิด ที่พัวพันคนการเมือง หนีไม่พ้น “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ที่กล่าวหาเป็นต้นตอการระบาดใหญ่เมื่อเดือน เม.ย. จาก คลัสเตอร์ย่านทองหล่อ จนถูก “เต้-มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์” อภิปรายไม่ไว้วางใจในข้อหา “เด็กเสเพล” ขณะที่ “เสี่ยโอ๋” ยืนยันแค่ “ดื่มนมเย็น” แต่เมื่อ ส.ส.ตัวจี๊ดไม่ยอมจบ โพสต์เฟซบุ๊กแฉอีก นำมาสู่การฟ้องร้องคดีกันต่อมา.