อกสั่นขวัญกระเจิงกันหมดหลัง “โอมิครอน” ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่เริ่มกระจายเข้ามาในประเทศทำลายความหวังเล็ก ๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ได้ตามเป้าหมาย แต่อย่างไรก็ดีการระบาดของไวรัสสายพันธุ์นี้เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการเรียนรู้-อยู่ร่วม เพื่อคืนวิถีชีวิตให้กลับมาใกล้เคียงปกติ โดยเฉพาะเรื่องของการเดินทางท่องเที่ยว ตอนนี้มีมาตรฐาน-มาตรการออกมาสารพัดเพื่อช่วยคุ้มครอง-ป้องกันและลดความเสี่ยงกับการนำเชื้อโรคกลับไปเป็นของฝาก

ที่ผ่านมาหลายคนต่างถวิลหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่เป็นการฟื้นฟูสภาพจิตใจ คลายความทุกข์ และผ่อนคลายสุขภาพจิต หลังจากต้องผจญเรื่องร้าย ๆ เกี่ยวกับโรคระบาดกว่า 2 ปี “ทีมเศรษฐกิจ” ขออาสาพาทุกท่านเดินทางไปสัมผัสความงามของเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ ๆ กับสถานที่ท่องเที่ยวฟื้นฟูจิตใจผ่านการรังสรรค์จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ซึ่งสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละแห่งนับว่ามีความพิเศษแตกต่างจากสถานที่ท่องเที่ยวแบบธรรมดาทั่วไป

ลุยดงมะพร้าวตะเคียนเตี้ย

เริ่มจากสถานที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ กันก่อนใครอยากรีเฟรชร่างกายใกล้ ๆ กรุงขอให้ไปบุกถิ่นมะพร้าวที่ใหญ่ที่สุดแหล่งสุดท้ายของภาคตะวันออก โดยไปกันที่ “ชุมชนตะเคียนเตี้ย” ชุมชนท่องเที่ยววิถีมะพร้าว อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี ใกล้พัทยาแค่ปลายจมูก แค่เดินทางออกมานิดเดียวจะพบกับความเขียวของดงต้นมะพร้าวเต็มไปด้วยเรื่องราวความผูกพันระหว่างคนในชุมชนกับมะพร้าว

เริ่มต้นวันอย่างช้า ๆ ด้วยการปั่นจักรยานชมสวนมะพร้าวพันธุ์หมูสีเป็นพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกง่าย กินกะลาอ่อนได้และให้ผลผลิตไว แถมยังมีมุมสวย ๆ ให้ถ่ายรูปทำคอนเทนต์เต็มไปหมด ส่วนมะพร้าวของที่นี่กินสด ๆ หอม หวานเนื้อนุ่มชวนให้ลิ้มลองด้วยตัวเอง

แต่สิ่งที่คอกาแฟไม่ควรพลาดต้องมาชิม “กาแฟมะพร้าว” ชงสด ๆ ที่ใช้น้ำกะทิคั้นสดไม่เกิน 4 ชั่วโมง รสชาติกลมกล่อมดีต่อสุขภาพยิ่งจิบพร้อมกับขนมไทยใส่มะพร้าวฝีมือชาวบ้าน ยิ่งเข้ากัน ส่วนอาหารกลางวันคือ “แกงไก่กะลา” เมนูขึ้นชื่อของชุมชนที่ไม่ธรรมดา เพราะวัตถุดิบหลักคือส่วนเนื้อกะลามะพร้าวที่เคี้ยวแล้วได้สัมผัสกรุบ ๆ ผัดกับไก่บ้านนุ่ม ๆ เคล้าเครื่องแกงสูตรเฉพาะและไม่ลืมใส่กะเพรา 100 ปี สร้างความเผ็ดร้อน เพิ่มความอร่อยครบรสให้เมนูจานนี้ อิ่มท้องแล้วที่นี่ยังมีกิจกรรมสนุก ๆ รออยู่อีกเพียบทั้งชมวิธีการปอกมะพร้าวแบบดั้งเดิม เรียนรู้วิถีชุมชนที่พิพิธภัณฑ์บ้านร้อยเสา ทำผ้ามัดย้อมลายเดียวในโลกจากฝีมือของเราด้วยสีจากกะลามะพร้าว ออกแรงกับการทำกระเป๋าผ้าจากดอกไม้ธรรมชาติที่เก็บได้ในชุมชน เรียนรู้ลองทำพวงมโหตร พับกุหลาบใบเตย กัวซาล้างพิษในร่างกายและก่อนกลับก็ยังมีผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวให้ซื้อกลับไปเป็นของฝากกันอีกด้วย

ชมวิถีอีสานบนแดนเหนือ

ขึ้นเหนือกันไปสักนิดออกเดินทางไปสัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมฉบับ “อีสานล้านนา” ที่ชุมชนบ้านท่าขันทอง จังหวัดเชียงราย ชุมชนนี้ถูกขนานนามว่าเป็น “อีสานแดนเหนือ” ด้วยส่วนผสมที่ลงตัวระหว่างวัฒนธรรมของผู้คนภาคอีสานกับวิถีชีวิตแถบลำน้ำโขงบนภาคเหนืออบอวลไปด้วยมนต์เสน่ห์ที่ไม่เหมือนใคร การันตีด้วยรางวัลสุดยอดหมู่บ้านท่องเที่ยวชนบทประจำปี 2563 และอันดับ 1 ในสาขาหมู่บ้านท่องเที่ยวโฮมสเตย์

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากทริปนี้คือ “ความอบอุ่นและความอิ่มใจ” ผ่านการต้อนรับของผู้คนในหมู่บ้านรวมไปถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในวิถีชาวอีสานล้านนามากยิ่งขึ้น การเดินทางในหมู่บ้านแห่งนี้พาหนะที่จะนำไปเปิดรับประสบการณ์คือ “รถอีต๊อก” ที่จะพาเราไปรู้จักกับภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่าง “ผ้าทอมือลายตาหม่อง” ผ้าพื้นบ้านทอมือที่มีลักษณะลายคล้ายตารางสี่เหลี่ยมซึ่งคนท้องถิ่นจะนิยมนำมาคลุมไหล่หรือพันคอ จากนั้นนักท่องเที่ยวจะได้ลองและชิม “สีข้าวกล้อง” เยี่ยมชมสวนเกษตรผสมผสานไร่วู้ดดี้ที่มี “เสาวรส” ให้ได้เด็ดชิมสด ๆ กลางสวน

มาต่อกันที่สวนอินคาที่ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับ “ถั่วดาวอินคา” ที่นอกจากจะนำผลมาทานได้แล้ว ตัวใบยังสามารถนำไปทำเป็นชาหรือนำไปห่อเมี่ยงทานได้อีกด้วยซึ่งคนท้องถิ่นบอกเลยว่าสรรพคุณไม่ธรรมดาช่วยลดความดัน เบาหวานและใช้ล้างสารพิษได้เป็นอย่างดี ส่วนไฮไลต์อิ่มเอมไปกับธรรมชาติผ่านการ “ล่องเรือในแม่น้ำโขง” ลมเย็น ๆ บรรยากาศดี ๆ ตลอดทาง ลืมความเหน็ดเหนื่อยไปได้เลย เรียกได้ว่าเป็นการชาร์จแบตเติมพลังใจได้จริง ๆ เมื่อขึ้นฝั่งมาแล้วนักท่องเที่ยวก็จะได้ชิมหมูปิ้งตาปันพร้อมกับน้ำจิ้มยายปั๋นรสเด็ดที่จะช่วยให้เราอิ่มท้องก่อนกลับ นอกจากนี้ทางชุมชนจัดเตรียมพิธีบายศรีสู่ขวัญผูกข้อไม้ข้อมือให้กับนักท่องเที่ยวที่ได้เดินทางมาพักที่โฮมสเตย์แห่งนี้อีกด้วยก่อนจะปิดท้ายไปด้วย “การแสดงฟ้อนเซิ้ง” ศิลปะพื้นบ้านอีกอย่างหนึ่งของชาวอีสานล้านนาที่จะผสมผสานความอ่อนช้อยกับดนตรีจังหวะสนุกสนานให้เราได้เพลิดเพลินกันก่อนเข้านอน

สโลว์ไลฟ์ที่ชุมชนบ่อสวก

ถัดจากเชียงรายมาหน่อยขอพาไปใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ของ ชุมชนบ่อสวก จังหวัดน่าน สถานที่แห่งนี้ได้ขุดพบเตาเผาโบราณอายุราว 750 ปี จึงเกิดการรื้อฟื้นวิถีดั้งเดิมด้วยต้นทุนทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่า โดยหลักฐานทางโบราณคดีสันนิษฐานว่าพื้นที่ตั้งของชุมชนบ่อสวกเป็นแหล่งผลิตเครื่องปั้นดินเผาขนาดใหญ่และสำคัญของเมืองน่านในสมัยโบราณปรากฏโบราณวัตถุเป็นประจักษ์พยานทั้ง เตาเผาโบราณ ถ้วย ชาม และข้าวของเครื่องใช้ที่มีอายุราว พ.ศ. 1950-2050 แสดงให้เห็นถึงอดีตที่รุ่งเรืองและเป็นแหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดน่าน

แรงบันดาลใจจากลายเครื่องปั้นดินเผายังส่งต่อสู่ลายผ้าโบราณผสมผสานกับลวดลายดั้งเดิมในชุมชนเกิดเป็น “ลายบ่อสวก” ลายเฉพาะบ่งบอกอัตลักษณ์ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นโดย “กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง” และยังมีการต่อยอดนำลวดลายผ้าทอมาตัดเย็บเป็นเสื้อคลุมที่ทันสมัยและสวมใส่ง่ายมีสีสันที่เป็นมิตรจากการย้อมสีธรรมชาติเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ และเป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้เริ่มสวมใส่ผ้าไทยนอกจากแม่หญิงบ้านซาวหลวงจะทอผ้าเพื่ออุตสาหกรรมครัวเรือนแล้วเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้มีส่วนร่วม ตั้งแต่เริ่มเรียนรู้การปั่นฝ้ายให้ออกมาเป็นเส้นด้าย การฉีดฝ้ายการย้อมสีธรรมชาติ สอนทอผ้าลวดลายบ่อสวกอย่างไม่หวงวิชาอีกด้วย

กลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวงจัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นแหล่งอนุรักษ์และถ่ายทอดหัตถกรรมงานทอผ้าลวดลายเอกลักษณ์จังหวัดน่าน โดยเฉพาะลายปากไหโบราณบ้านบ่อสวกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการทอผ้าตั้งแต่การปั่นฝ้ายให้ออกมาเป็นเส้นด้ายการย้อมสีผ้าจากธรรมชาติรวมไปถึงการทอเส้นด้ายให้ออกมาเป็นผืนนอก จากนั้นกลุ่มทอผ้าบ้านซาวหลวง ยังเป็นสถานที่รับซื้อผลิตภัณฑ์ผ้าทอจากชาวบ้านในชุมชนตำบลบ่อสวกเพื่อนำมาวางขายแก่นักท่องเที่ยว

ชมวิถีประมงริมฝั่งโขง

เข้าหน้าหนาวอากาศเย็น ๆ เราขอแนะนำทำความรู้จักกับสถานที่เที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมที่ซุกซ่อน อยู่ในจังหวัดเลยนั่นก็คือ ชุมชนประมงริมโขงเชียงคานเสน่ห์ของการมาเที่ยวที่ชุมชนนี้อยู่ที่การได้มาสัมผัสกับวิถีชีวิตประมงด้วยตาของตัวเองเมื่อก้าวเท้าลงจากรถแล้วมองไปรอบ ๆ เราจะได้เห็นแพของชาวประมงที่ดัดแปลงให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้ประมงพื้นบ้านเชียงคาน” หรือ “พิพิธภัณฑ์ชาวประมงเชียงคาน” แหล่งเรียนรู้และบอกเล่าเรื่องราววิถีชีวิตของชาวประมงให้กับผู้ที่สนใจรวมไปถึงนักท่องเที่ยวที่มาเยือนถึงถิ่นของเชียงคาน

ภายในพิพิธภัณฑ์ชาวประมงเชียงคาน ยังมีกิจกรรมการตอกลายวิถีประมงการแสตมป์วิถีประมงลงบนผ้าให้นักท่องเที่ยวได้โชว์ฝีมือออกแบบลวดลายต่าง ๆ ที่สะท้อนวิถีชีวิตของชาวประมงได้อย่างเต็มที่หลังจากเสร็จกิจกรรมบนบกเรียบร้อยแล้วก็มาถึงกิจกรรมไฮไลต์ “การล่องเรือริมโขง” สัมผัสวิถีประมงชมทัศนียภาพความงามริมโขงของทั้งฝั่งไทยและลาวซึ่งระหว่างที่ล่องเรือไปจะได้เห็นและเรียนรู้วิธีหาปลาจากกลุ่มประมง ทั้งยังได้เห็นแสงสีทองตกกระทบลงมาที่ผิวน้ำจากพระอาทิตย์ตกดินอดไม่ได้ที่จะถ่ายรูปเก็บความประทับใจ 

หลังจากถ่ายรูปวิวพระอาทิตย์ตกดินไปเรียบร้อยแล้วก็จะพาทุกคนมาทำคอนเทนต์กันต่อที่สตรีทอาร์ตภาพ 3 มิติที่บอกเล่าวัฒนธรรมของผู้คนในจังหวัดเลย ไม่ว่าจะเป็นประเพณีผีตาโขนวิถีชาวประมงของคนเชียงคาน ซึ่งภาพ 3 มิตินี้สามารถมองเห็นได้ทั้งบนบกและตอนล่องเรือในแม่น้ำโขงเลยคิดท่าโพสตุนไว้เยอะ ๆ ล่ะ เพราะตรงจุดนี้นักท่องเที่ยวสามารถกดชัตเตอร์กันแบบรัว ๆ ได้เต็มที่ ปิดท้ายด้วย “ถนนคนเดินเชียงคาน” อีกหนึ่งไฮไลต์ที่แสนจะคึกคักถ้าใครที่ได้มาท่องเที่ยวชมวิวริมโขงแล้วก็จะต้องแวะมาเดินเล่นกันต่อที่นี่เกือบทุกครั้ง

สัมผัสอันซีนใหม่ที่กระบี่

ส่งท้ายกันที่ชุมชนแหลมสักของจังหวัดกระบี่ ที่มีทะเล 3 ด้านวัฒนธรรม 3 เชื้อชาติถือเป็นชุมชนเล็ก ๆ ที่เต็มไปด้วยเรื่องราววัฒนธรรมของผู้คนทั้ง 3 เชื้อชาติทั้งชาวไทยพุทธ ชาวไทยเชื้อสายจีน และชาวมุสลิม รวมไปถึงความสวยงามทางด้านทัศนีย ภาพที่ถูกล้อมไปด้วยทะเล 3 ด้าน ตั้งแต่ทิศตะวันตก ทิศใต้ และทิศตะวันออก และยังมีภูเขาโอบไว้อีกชั้นหนึ่งทำให้แหลมสักเป็นทะเลในที่ไม่เหมือนใครไม่มีคลื่นลม มรสุม สามารถเข้าไปเที่ยวได้ตลอดทั้งปี

กิจกรรมของชุมชนแหลมสักเริ่มต้นด้วยการไปชมอาคารสไตล์สถาปัตยกรรมแบบชิโนโปรตุกีสที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรมของบาบ๋า-ยาหยา หรือเพอรานากัน อย่าง “บ้านบูลเฮ้าส์” ซึ่งภายในอาคารแห่งนี้มีกิจกรรมระบายสีผ้าบาติกให้เราได้โชว์ศักยภาพความเป็นจิตรกรแต่งเติมสีสันลงบนผ้าบาติกให้ออกมาสวยงาม พร้อมชม “สามแยกวัฒนธรรม” ที่มีวัดมหาธาตุแหลมสัก (ชาวไทยพุทธ) ศาลเจ้าซกโป้ซี่เอี๋ย (ชาวไทยเชื้อสายจีน) และมัสยิดซอลาฮุดดีน (ชาวมุสลิม) ที่ตั้งอยู่ห่างกันเพียงแค่ 150-200 เมตร สามารถเดินหรือจะปั่นจักรยานชมบรรยากาศเพลิน ๆ ก็ได้

จากนั้นมา “ล่องเรือชมแหลมสักลากูน” ไฮไลต์เด็ด คือการนั่งเรือหัวโทงชมวิวธรรมชาติสวย ๆ แบบ 360 องศา ที่แรกชมภาพเขียนสีถ้ำชาวเล ถัดไปไม่ไกลพบกับความงามของแหลมไฟไหม้ที่มีช่องเขาทะลุเป็นรูปหัวใจ หลาย ๆ คนจะนิยมเรียกกันว่า “หัวใจแห่งขุนเขา” และระหว่างทางที่ล่องเรือไปยังจุดต่าง ๆ เราจะได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนผ่านการทำประมงพื้นบ้านมีการทำกระชังเลี้ยงปลากุ้ง และสาหร่ายพวงองุ่นที่สามารถชิมได้แบบสด ๆ ไปเลย

ปิดท้ายด้วยจุดถ่ายรูปเช็กอินที่ “เขาเหล็กโคน” แลนด์มาร์คสำคัญที่เมื่อใครได้มาต้องมาปักหมุดเช็กอินกันก่อนกลับขึ้นฝั่งทุกครั้งจะถ่ายวิวธรรมดาหรือจะขึ้นไปนั่งบริเวณหัวเรือโทง แล้วถ่ายให้ติดวิวเขาทางด้านหลังก็ได้ไม่สงวน

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวที่เรายกมาแนะนำครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของอีกหลายร้อยหลายพันสถานที่ท่องเที่ยวทั่วไทยที่ซ่อนเรื่องราวและวิถีชีวิตที่มีเสน่ห์เติมเต็มประสบการณ์การเดินทาง และต้องเรียกว่าอันซีนแบบสุด ๆ ซึ่งหากใครสนใจก็สามารถตามรอยท่องเที่ยวไปยังเส้นทางต่าง ๆ ได้ ช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจและเพิ่มพลังให้กับตัวเราเองดีนักแล.