ตลอดปี 2564 เป็นปีที่ประเทศมีแต่เรื่องหนักหน่วงการบริหารประเทศ ของ “รัฐบาลเรือเหล็ก” ที่ต้องเผชิญสารพัด ดราม่าทั้งโรคระบาด การชุมนุม ม็อบต่าง ๆ ที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรม ส่วนสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นก็มี “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์” มากมาย “ทีมการเมืองเดลินิวส์” จึงหยิบยกบางเหตุการณ์มารีวิวก่อนผ่านเข้าสู่ปีใหม่ เริ่มกันที่

ปิดทำเนียบหนีโควิด

“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ต้องปิดทำเนียบรัฐบาลเพราะงานเข้าหลังจากได้นำคณะเดินทางไป จ.ภูเก็ต เปิด Phuket Sandbox เมื่อเดือน ก.ค. เพื่อตีปี๊บรับนักท่องเที่ยว เรียกความเชื่อมั่นกลับมา แต่เมื่อกลับมาจากการเปิดงานแล้ว ประธานหอการค้า จ.สุรินทร์ ที่ได้ขอถ่ายเซลฟี่กับนายกฯ แจ้งว่าติดเชื้อโควิด ภายหลังรู้ข่าว นายกฯ ต้องบึ่งออกจากทำเนียบ กลับบ้านพัก เพื่อกักตัว 14 วันทันที แต่ โควิดบุก ทำเนียบยังไม่จบเท่านั้น ถัดมาอีกเดือนกว่า ๆ ผู้สื่อข่าวที่ติดตามทำข่าวนายกฯ ดันเกิดไปติดเชื้อโควิด ทำให้ทำเนียบรัฐบาลต้องสั่งปิด 14 วันหนีโควิดอีกครั้ง เรียกว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ที่ทำเนียบ ต้องปิดหนีโควิด หลังจากที่เคยถูกม็อบปิดด้วยเหตุการณ์ทางการเมืองมาแล้ว

วัคซีนเต็มแขน

ต้องยอมรับว่าปัญหาวัคซีนส่วนใหญ่เกิดจากการบริหารจัดการของรัฐบาล และหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะคำพูดที่ออกจากปาก “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข คนไทยจะมีวัคซีนเต็มแขน ที่ทำให้เกิดดราม่ามากมาย แม้วันนี้จะสามารถฉีดได้ครบ 100 ล้านโด๊ส ตามที่คุยไว้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กว่าจะมาถึงวันนี้เกิดปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการมากมาย ไม่ใช่แค่จำนวนวัคซีนที่ได้มาไม่มีความแน่นอน ปัญหาใหญ่ คือ การเอาวัคซีนไปเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างโจ่งแจ้ง โดยบรรดาพรรคการเมืองต่าง ๆ แทนที่จะฉีดวัคซีนที่มีอยู่ให้กลุ่มเสี่ยง แต่กลับตัดแบ่งกันให้กลุ่มที่เรียกว่า วีไอพี หัวคะแนน และประชาชนในพื้นที่ หวังโกยคะแนน สุดท้ายเกิดความโกลาหลจนผิดแผนวัคซีนไม่ได้ตามเป้า ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ ผู้ป่วยล้น รพ. กลุ่มเสี่ยง คนที่เข้าไม่ถึงวัคซีนติดเชื้ออาการหนัก บางรายเสียชีวิตข้างถนนก็มีให้เห็น เป็นเหตุให้สาธารณสุขไทยล้มเหลวก็ว่าได้

อันซีนการเมือง

การเมืองบนท้องถนนหรือม็อบต่าง ๆ ถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับการเมืองไทยมายาวนาน ซึ่งการชุมนุมแต่ละครั้งต้องมีการแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เพื่อดึงดูดความสนใจและสะท้อนข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลในช่วงเวลานั้น โดยปีที่ผ่านมาช่วงการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนนักเรียน นักศึกษา หรือที่เรียกตัวเองว่าคนรุ่นใหม่ ในนาม กลุ่มราษฎร และแนวร่วมต่าง ๆ  ก็จะได้เห็นกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่เป็น “อันซีน” ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการประท้วงทางการเมืองในไทย เช่น การแก้ผ้าประท้วงของ “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง ดาวเด่นของผู้ชุมนุม การอดข้าวประท้วงในเรือนจำของ เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์  ไปจนถึงการสาดสีใส่เป้าหมายที่เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจรัฐทั้งที่เป็นบุคคลและสถานที่ การจัด “คาร์ม็อบ” ของ บก.ลายจุด สมบัติ บุญงามอนงค์ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อให้สอดรับกับวิถีนิวนอร์มัลในยุคโควิด เป็นต้น

หลวงพ่อป้อม-เช็ดพื้นรอ

สำหรับตัวจี๊ดแห่งค่ายพลังประชารัฐที่ใคร ๆ ต้องพูดถึง ทั้ง นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม. ที่มักจะห้อยเหรียญ “หลวงพ่อป้อม” มาโชว์สื่ออยู่เสมอ ๆ ในช่วงเหตุการณ์สำคัญ ๆ ทางการเมือง เช่น วันโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ เรียกเสียงฮือฮาและสร้างความหมั่นไส้ให้กับฝั่งตรงข้ามไม่น้อยแต่ในที่สุดก็ช่วยอะไรไม่ได้ถูกสอยตกเก้าอี้ส.ส.ต้องชดใช้เงินในการเลือกตั้งและคืนเงินเดือนที่รับมาทั้งหมด
อีกคนก็จี๊ดไม่แพ้กันไม่ว่าจะเคลื่อนไหวอย่างไรคนก็มักจะพูดถึงตลอด “เอ๋” ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี ที่ล่าสุด ได้ก้มเช็ดพื้น หลังฝนตก เพราะกลัว “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ลื่นล้มในระหว่างตรวจราชการ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 ก.ย. กลายเป็นภาพจำทันที พร้อม ๆ กับวลีที่ว่า แหม…ทำไปได้

มีตติ้งสยบรอยร้าว  

การทำงานของรัฐบาลก้าวเข้าสู่ปีที่ 3 ซึ่งเป็นโค้งสุดท้ายทางการเมืองเริ่มดุเดือด โดยปี 64 การทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ 3 พรรคการเมืองใหญ่ “พลังประชารัฐ–ภูมิใจไทย– ประชาธิปัตย์” หลายครั้งบรรดารัฐมนตรีแต่ละพรรคก็มีการชิงไหว ชิงพริบโกยฐานคะแนนกัน หรือแม้แต่ในวาระสำคัญทางการเมืองก็มีความเห็นที่ไม่ลงรอยกัน อาทิ การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่พรรคภูมิใจไทยไม่เห็นด้วยถึงกับ “งดออกเสียง” กลางสภา  การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ภาคใต้ ที่ชนกันของ “พลังประชารัฐ– ประชาธิปัตย์” หรือแม้แต่ปัญหาองค์ประชุมที่ “สภาล่ม” ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ จน “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องการจัดมีตติ้งพรรคร่วมรัฐบาล

เพื่อพูดคุยสะท้อนปัญหาการทำงานระหว่างรัฐบาล และ ส.ส. รวมถึงแสดงความแน่นแฟ้นของ “3 ป.” และสยบข่าวเกาเหลา ของ “2 ป.” ที่เกิดจากเอฟเฟกต์ “กบฏธรรมนัส” ในศึกคว่ำนายกรัฐมนตรีจากศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่สุดท้ายก็ต้องเลื่อนถึง 2 ครั้ง คือวันที่ 26 พ.ย. เพราะนายกรัฐมนตรีติดภารกิจเข้าร่วมประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป ครั้งที่ 13 ที่ทำเนียบรัฐบาล ส่วนวันที่ 3 ธ.ค. ก็ต้องเลื่อนอีกครั้ง เพราะเจอพิษโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” มาเยือนไทย ทำให้มีตติ้งพรรคร่วม ต้องกลายเป็นโรคเลื่อนกระชับมิตรข้ามปีไปในทันที

ดราม่าน้ำท่วม

นอกจากการช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำท่วมในปี 64 ที่ฮือฮาที่สุดต้องยกให้ “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ลงไปแจกของชาวบ้าน วันที่ 5 ต.ค. จ.พระนครศรีอยุธยา โดยลุยน้ำถึงอก พร้อมวลีเด็ดกำชับทีมงาน “ห้ามบอกว่าผมเป็นใคร” และถัดไปอีก 3 วัน “เต้” มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ ที่โชว์เหนือกว่าทันที ที่จังหวัดเดียวกันด้วยการลุยแจกของน้ำท่วมถึงคอ ทำเอาอึ้ง…ไปทั้งประเทศว่า …ทำไมไม่นั่งเรือ??

สู้ไปกราบไป

ด้วยยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ดึง นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว เป็นหัวหน้าพรรค และเปลี่ยนกรรมการบริหารพรรคยกชุด เน้นคนรุ่นใหม่เข้ามายกเครื่องกระตุ้นการทำงานใหม่ยกเซต แต่การเคลื่อนไหวของ “พี่โทนี่ วู้ดซัม” นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แต่ละครั้งกลับสวนทางกับเจตนารมณ์ของกลุ่มเยาวรุ่น จนวลีคำว่า “สู้ไปกราบไป” ถูกกลับมาใช้อีกครั้ง หลังพี่โทนี่ ต้องออกมาเบรก นายชัยเกษม นิติสิริ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมืองพรรคเพื่อไทย ออกแถลงการณ์สนับสนุนกลุ่มเยาวรุ่นทันทีกรณีไปสนับสนุนข้อเรียกร้องการชุมนุมกลุ่มแนวร่วม