เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมการเมืองไทย ช่วงหนึ่งระบุว่าในปี 2564 เป็นปีที่สถาบันการเมือง มีพฤติกรรมและมีการใช้อำนาจจนทำให้ประชาชนเกิดความเสื่อมศรัทธา และสิ้นหวังมากยิ่งขึ้นสภาผู้แทนราษฎร ก็เป็นบรรยากาศที่ห้องประชุมโหลงเหลง สมาชิกวุฒิสภา ขัดขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขัดขวางสิ่งที่จะมาแตะอำนาจของตัวเอง ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยขัดหูขัดตาประชาชนหลายกรณี และองค์กรอิสระมีคำวินิจฉัยที่ประชาชนตั้งคำถามถึงความเป็นกลาง และความเป็นอิสระ พฤติกรรมเหล่านี้ของสถาบันการเมืองทำให้ประชาชนรู้สึกสิ้นหวังและเชื่อว่าจะถึงทางตัน

นายปิยุบตร ประเมินว่าในปี 2565 การเมืองในสถาบันการเมืองน่าจะเป็นปีที่ถนนหนทางวิ่งไปสู่การเลือกตั้ง ทั้งการเลือกตั้งซ่อมในหลายเขตการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. การเลือกตั้งนายกเมืองพัทยา และในช่วงปลายปีจะมีกระแสและสถานการณ์กดดันให้ยุบสภา โดยเฉพาะภายหลังผ่านกฎหมายการเลือกตั้งและกฎหมายพรรคการเมือง รัฐบาลต้องเร่งสปีดทำผลงานและอัดเงินเข้าระบบผ่านนโยบายลดแลกแจกแถม เพื่อเตรียมการสู่การเลือกตั้ง

เช่นเดียวกันที่บรรยากาศทางการเมืองจะกลับมาคึกคัก มีการชักชวนให้ย้ายพรรค และเปิดตัวพรรคใหม่ ส่วนประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะยังคงอยู่ แม้คนจะรู้แล้วว่าแก้ไม่ได้ในทางความเป็นจริง แต่จะมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องและการรณรงค์เหล่านี้ในท้ายที่สุดจะถูกแปรสภาพให้เป็นนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อนำไปใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งใหญ่

“พรรคที่จะเสียเปรียบจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญรอบนี้ ผมปฏิเสธไม่ได้ว่าคือพรรคก้าวไกล ที่จะเสียเปรียบที่สุด จากการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้ง นอกจากนี้จะถูกกลไกรัฐเข้าบดขยี้อย่างต่อเนื่องแน่นอน” นายปิยบุตร กล่าว

นายปิยบุตร กล่าวต่อว่า การแก้ไขระบบเลือกตั้งทำให้พรรคก้าวไกล ต้องรับสภาพว่าจะได้จำนวน ส.ส. ลดลง แต่สิ่งหนึ่งที่ยังพิสูจน์ว่าพรรคก้าวไกลจะไปต่อได้หรือไม่คือคะแนนป๊อปปูลาร์โหวต ถ้าย้อนไปในสมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ ได้คะแนนป๊อปปูลาร์โหวต 6.3 ล้านคะแนน หากพรรคก้าวไกลสามารถทำคะแนนป๊อปปูลาร์โหวต มาที่ 8-10 ล้านคะแนน แม้จะได้ ส.ส. ลดลงเหลือ 50-60 คน ตนถือว่านี่คือความสำเร็จ ที่สะท้อนว่ามีคนไทยประมาณ 20-25 % ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สนับสนุนพรรคก้าวไกลอยู่ ถือเป็นแรงกระเพื่อมใหญ่ของการเมืองไทยได้เช่นกัน

นอกจากนี้ นายปิยบุตร ประเมินในปี 2565 จะมีการชุมนุมเกี่ยวกับเรื่องปัญหาเฉพาะของแต่ละกลุ่มมากยิ่งขึ้น เช่น ปัญหาปากท้องที่ได้รับการเยียวยาไม่พอจากวิกฤติ โควิด-19, ปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรฯ และมองว่าการชุมนุมแบบเดิมได้ไปสุดทางแล้ว เพราะฝ่ายรัฐตั้งรับได้แล้ว จึงอยากให้เปลี่ยนมาใช้วิธีการรณรงค์ทางความคิดแทน.