เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. ที่ห้องประชุมไพจิตรปวะบุตร กระทรวงสาธารณสุข นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน, นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมคณะ แถลงข่าวการป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สรุปภาพรวมผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1-29 ธ.ค.64 เข้ามาใน 3 ระบบคือ ระบบไม่กักตัว (Test and go) ระบบแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) และระบบกักตัว (Quarantine) รวม 270,851 คน พบการติดเชื้อโควิด-19 ในระบบ T&G 730 คน คิดเป็น 0.32% ระบบแซนด์บ็อกซ์ 121 คน คิดเป็น 0.32% และระบบกักตัว 205 ราย คิดเป็น 3.47%

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่าสำหรับการติดเชื้อโอมิครอนในประเทศวันนี้ 357 คนนั้น เพิ่มขึ้นมา 1 จังหวัดจากเมื่อวาน 33 จังหวัด คือ จ.เพชรบูรณ์ รวมเป็น 34 จังหวัด อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญขอให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention ป้องกันตัวเองตลอดเวลา และฉีดวัคซีนป้องกันโควิด เพราะแม้โอมิครอนจะหลบภูมิฯ ได้ แต่วัคซีนยังช่วยลดความรุนแรงได้เช่นกัน

เมื่อถามว่าขณะนี้ข้อมูลในแอฟริกาใต้พบโอมิครอนความรุนแรงลดลง และอาจมาแทนที่เดลตา ข้อมูลดังกล่าวจะส่งผลให้คนประมาทไม่ป้องกันตัวหรือไม่ นพ.ศุภกิจ ย้ำว่าประมาทไม่ได้ แม้ข้อมูลที่ออกมาจะไปในทางนั้น อัตราการติดเชื้อนอน รพ.น้อยกว่าเดลตา ภาพรวมเห็นชัดว่า ผู้ป่วยหนักลดลง อย่างของไทยเกือบพันรายไม่มีเสียชีวิต อาการหนัก 2 คนแต่หายดีแล้ว แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามต้องเข้าใจว่า ข้อมูลเหล่านี้ต้องใช้เวลา ยังเร็วไปถ้าจะบอกว่าอันตรายน้อย สิ่งสำคัญขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการเช่นเดิม พยายามเลี่ยงกิจกรรมเสี่ยงทั้งหลาย และมาฉีดวัคซีนป้องกันโควิด จะช่วยบรรเทาอาการได้

“ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขเตรียมพร้อมแล้ว ไม่ว่าจะเป็นระบบการรักษาต่างๆ โดยเฉพาะการจัดระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) โดยเรามีประสบการณ์จากครั้งก่อน ครั้งนี้จะมีระบบติดตามแยกคนติดเชื้อออกจากคนป่วย ใครติดเชื้อไม่มีอาการให้อยู่ HI ถ้าไม่สามารถอยู่ได้ให้เข้า CI โดยจะมีระบบคอยมอนิเตอร์อาการ หากมีอาการมากขึ้นนำส่งรพ.ทันที” นพ.ศุภกิจ กล่าว

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เป็นห่วงช่วงเทศกาลปีใหม่ บางคนอาจเกิดเครียดซึมเศร้า เกิดภาวะ new year blues หรือภาวะซึมเศร้าช่วงปีใหม่ มีอาการ ซึมเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ รู้สึกไร้ค่า สิ้นหวัง ไม่สนใจสิ่งรอบข้าง ไม่อยากสังสรรค์ มีปัญหาการกินนอน บางรายทำร้ายตัวเอง โดยอาการเหล่านี้จะเป็นในช่วงต้นมกราคม และอาจมีอาการเช่นนี้ ยาวไปแม้สิ้นสุดในหยุดยาว โดยนิยมคำว่า “บูล” หรือ “สีฟ้า” เป็นการแทนอารมณ์หม่นหมอง ดังนั้นต้องเริ่มจากสังเกตอารมณ์ตัวเองสม่ำเสมอ สื่อสารกับตัวเอง รู้ว่าตนเองมีภาวะจิตใจเป็นอย่างไร หรืออาจใช้แบบสำรวจใจ เว็บไซต์ วัดใจดอทคอม ประเมินตัวเองทั้งด้านภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย หมดไฟ ประเมินรู้จักตนเอง และพยายามมองความสำเร็จที่เกิดขึ้นของตัวเอง ในปีที่ผ่านมา อย่ามองแค่ความเหนื่อยยากลำบากเพราะยังมีสิ่งที่เราประสบความสำเร็จหลายอย่าง ที่สามารถพาตัวเองออกจากสถานการณ์เลวร้ายและในช่วงปีใหม่ควรใช้เวลาพักผ่อน พร้อมกับการตั้งเป้าหมายอย่างง่ายที่ทำได้ด้วยตัวเองไม่ยากเกินไป เพื่อไม่ให้เกิดความท้อแท้เช่นการหยุดพักผ่อน หรือทำกิจกรรมกับคนในครอบครัว แต่สำหรับคนที่อยู่ลำพัง อาจใช้สื่อโซเชียลมีเดียเชื่อมความสัมพันธ์.