ตลอดช่วงปี 64 เป็นปีที่คนไทยต้องประสบปัญหาอย่างหนักจากโควิด-19 ที่ลามต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจทุกระดับและทวีความรุนแรงเกินคาด รัฐบาลต้องออกมาตรการสะกัดกั้น บรรเทา และเยียวยาจนเงินในคลังใกล้ถังแตก! และเรื่องร้ายโหมกระหน่ำทั้งภาคธุรกิจ สังคมที่ถาโถมเข้ามาส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้อยู่ลำบากมากขึ้น…วันนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สรุปเรื่องเด่น ๆ มาเล่าสู่กันฟัง

หลอกลวงออนไลน์

การหลอกลวงสารพัดรูปแบบโดยเฉพาะพฤติกรรมมิจฉาชีพใช้ยอดฮิตที่สุดและวลีเด็ดแห่งปี “สวัสดี! เรามาจากกระทรวงพาณิชย์ของช้อปปี้”  มาชักชวนทำงานหรือหลอกให้กู้เงินและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งมักจะมาในรูปแบบข้อความเอสเอ็มเอสบนโทรศัพท์มือถือ ถึงแม้ว่าเรื่องนี้ทั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ออกมาประกาศลั่นเลยว่าจะบล็อกสกัดกั้นข้อความเหล่านี้แต่มาจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่เห็นว่าจะบล็อกข้อความเหล่านี้ได้สักนิด!

ไม่ใช่แค่นั้นมิจฉาชีพมีกลลวงหลากหลายรูปแบบตลอดทั้งปี 64 เรื่อยมา หากยังจำกันได้ “เดลินิวส์” ได้นำเสนอในเรื่อง “สินค้าไม่ตรงปก” ซึ่งในยุคที่ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซขยายตัวค่อนข้างมากประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปรับยุคดิจิทัลมากขึ้นและเร็วขึ้นจากส่วนใหญ่คนไทยได้ทำงานจากที่บ้านหรือเวิร์ก ฟรอม โฮม เพราะการระบาดโควิด-19 ในปี 64 หนักหน่วงทำให้มีเวลาเลือกชอปปิงบนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ และนั่นเองทำให้มีมิจฉาชีพเห็นช่องทางหากิน

พฤติกรรมคือหลอกให้คนคลิกซื้อโดยใช้กลลวงด้านราคาคือตั้งราคาให้ถูกเอามาก ๆ กับสินค้าที่คนนั้นสนใจ เป็นใครใครก็จิ้มซื้อแต่พอสินค้ามาถึงหน้าบ้าน ต้องผงะ!…บางรายสั่งแท็บเล็ตให้ลูกหลานไว้เรียนออนไลน์เพราะเป็นอุปกรณ์จำเป็นในการเรียนการสอนยุคที่โควิดระบาดแต่เมื่อส่งมาถึงกับช็อก! เพราะสินค้าไม่ตรงปกเช่นกันในกรณีนี้เราสามารถไม่กดรับสินค้าเพื่อให้แพลตฟอร์มตัวกลางอี-คอมเมิร์ซตีคืนสินค้าและคืนเงินกลับมาให้ลูกค้า

อย่างไรก็ตามปัญหา “สินค้าไม่ตรงปก” รวมถึงการถูกหลอกลวงให้โอนเงินแต่ไม่ได้รับสินค้าจากปัญหาที่พุ่งสูงอย่างต่อเนื่องจน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ลดน้อยลง

ที่ผ่านมากระทรวงดีอีเอสได้ยกระดับศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ 1212OCC สู่ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ ทั้งแก้ไขปัญหาซื้อขายออนไลน์การฉ้อโกงเว็บไซต์ผิดกฎหมาย แชร์ลูกโซ่และแอพเงินกู้ผิดกฎหมาย หากใครที่ตกเป็นเหยื่อแจ้งเรื่องร้องเรียนหรือขอคำปรึกษาเข้ามาได้ที่ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการปัญหาออนไลน์ โทร. 1212 ได้ 24 ชั่วโมงเพื่อให้เจ้าหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที

เงินหายไม่รู้ตัว

ไม่เพียงเท่านั้นนอกจากภัยออนไลน์ยังนำไปสู่การสูญเสียเงินให้คนไทยต้องทนทุกข์หนักเข้าไปอีกบางรายหลอกให้คลิกลิงก์จากข้อความบนมือถือหากเผลอกดเข้าไปจะกลายเป็นเหยื่อเงินหายแบบไม่รู้ตัวที่น่าเศร้าใจไปมากกว่านั้น! มีคนตกเป็นเหยื่อถูกหลอกสูญเสียเงินบางคนเป็นก้อนสุดท้ายของชีวิตจนเครียดคิดสั้นฆ่าตัวตายก็มีให้เห็นตามข่าวเป็นระยะ ๆ ถือเป็นภัยการเงินที่หน่วยงานกำกับของประเทศยังควบคุมดูแลไม่ได้…

กระทั่งข่าวใหญ่ของการหลอกลวงแห่งปีเลยก็ว่าได้! กับการโดนแฮกเงินในบัตรโดนดูดเงินบนบัตรเครดิตและบัตรเดบิตแบบไม่รู้ตัวรวม ๆ แล้วมูลค่าสูงกว่า 130 ล้านบาททีเดียว …แต่คำถามคือเกิดแบบนี้ขึ้นได้อย่างไร?

ต้องยอมรับก่อนว่ากลุ่มมิจฉาชีพมักจะเปลี่ยนรูปแบบให้เข้ากับยุคสมัย บ้างก็ว่าได้ข้อมูลเลขหน้าบัตรจากที่เราชอปปิงบนออนไลน์ในแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งข้อมูลการเงินรั่วไหลออกไป บ้างก็ว่ามิจฉาชีพสุ่มเลขหน้าบัตรโดยใช้เทคโนโลยีสุดไฮเทคระบบเอไอผ่านการประมวลแบบอัลกอริทึมแต่เรื่องนี้สุดท้ายสถาบันการเงินได้ดูแลลูกค้านำเงินคืนให้ทั้งหมดแล้วครบถ้วน

แม้ว่าหลังจากนั้นจะเกิดเหตุตามมาอีกเป็นระยะ ๆ และเกิดคำถามตามมาอีกมากว่าหน่วยงานที่กำกับดูแลระบบการเงิน ระบบสถาบันการเงิน และระบบชำระเงินของประเทศอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่สามารถสกัดกั้นดูแลภัยการเงินที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ได้จริงหรือ? ถึงได้ปล่อยให้มิจฉาชีพแฮกระบบชำระเงิน แล้วความปลอดภัยทางด้านการเงินของคนไทยอยู่ตรงไหน? จนทำให้ช่วงแรกที่เกิดเหตุบางรายถึงกับขาดความเชื่อมั่นระบบธนาคารไปเลยซึ่งยังบอกว่า “เงินที่ฝากไว้กับธนาคารไม่รู้ว่าวันไหนเงินของเราจะหายไปแบบไม่รู้ตัวเหมือนกับเหตุการณ์ในครั้งนี้ได้อีกหรือไม่”

สิ่งที่ติดตามต่อไปคือหน่วยงานที่รับผิดชอบทั้งด้านการเงินและด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจะจัดการเรื่องนี้ในปี 2565 อย่างไรต่อไปเพราะภัยการเงินมักจะเปลี่ยนรูปแบบหลอกลวงมาสารพัดแล้วเราจะไล่ตามทันอย่างไรไม่ให้คนไทยต้องทนทุกข์กับการถูกหลอกลวงสูญเสียเงินทองซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ค่าครองชีพพุ่ง รับคลายล็อกดาวน์

หลังจากโควิดคลี่คลายปัญหาที่คนไทยต้องเผชิญกันต่อคือปัญหาค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มจนแซงรายได้หลังทั่วโลกกลับมาเปิดประเทศกันอีกครั้ง ส่งผลให้มีความต้องใช้สินค้าเพิ่มขึ้นจนทำให้ราคาสินค้ากลุ่มโภคภัณฑ์ซึ่งต้นทุนการผลิตแพงขึ้นมากทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง พืชผลการเกษตร ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลอดจนปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ดาหน้าขึ้นไม่หยุด

ผลกระทบที่ตามมาทำให้ราคาสินค้าจำเป็นที่ต้องกินต้องใช้ปรับแพงอย่างต่อเนื่องเช่น ราคาน้ำมันปาล์มขวดแพงขึ้นจาก 45 บาท เป็น 55-60 บาท ราคาผักสดที่เจอน้ำท่วมทำให้ราคาพุ่งกระฉูด อย่างผักชี กก. 400 บาท ขึ้นฉ่าย กก. 300 บาท คะน้า กก. 80 บาท นอกจากนี้จากต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มก็ทำให้ราคาเนื้อหมู พุ่งไป กก. 160-190 บาท รวมถึงข้าวแกง อาหารจานด่วนก็ขึ้นอีกจานละ 5-10 บาท ที่น่าห่วงกว่านี้แนวโน้มค่าครองชีพยังพุ่งขึ้นได้อีกในปี 2565 เพราะสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นต้นทุนสำหรับผลิตสินค้าค่าขนส่ง ยังคงแพงได้ต่ออีก

ราคาพลังงานขึ้นยาวถึงปี 65

อีกหนึ่งวิบากกรรมในปี 64 ที่คนไทยต้องชอกช้ำหนีไม่พ้นราคาพลังงานถีบราคาขึ้นยกแผง โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลที่เป็นกระแสร้อนแรงราคาทะลุเกินลิตรละ 30 บาทส่งผลปัญหาอีนุงตุงนังตามมาอีกเพียบ เริ่มตั้งแต่กลุ่มสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยออกมาเปิดศึกกับรัฐบาล เคลื่อนขบวนรถบรรทุกในเส้นทางถนนต่าง ๆ ขอราคาน้ำมันลิตรละ 25 บาทประกาศหยุดรถขนส่งประท้วง เกิดเป็นภาพความวุ่นวายการชุมนุม ตามมาด้วยบางผู้ประกอบการเริ่มฉวยโอกาสจ่อปรับขึ้นราคาสินค้า โดยอ้างราคาค่าขนส่งปรับขึ้นราคานานาปัญหา สร้างความบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคลากกระทบไปถึงความเชื่อมั่นของประเทศ

งานนี้กระทรวงพลังงานต้องงัดสารพัดมาตรการออกมาเบรกความร้อนแรงของราคาน้ำมันทั้งการปรับสูตรลดการผสมไบโอดีเซลที่ต้นทุนสูงเพื่อกดราคาลงมา ไม่ให้เด้งสูง รวมทั้งประกาศกู้เงินลอตแรก 20,000 ล้านบาทนำมาโปะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ตอนนี้ถังแตก!…ติดลบบักโกรกมากกว่า 3 พันล้านบาทแล้ว เรียกว่าสะบักสะบอมรวมทั้งต้องอุ้มราคาก๊าซหุงต้มหรือแอลพีจีอีกด้วย

ล่าสุดสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ประกาศว่าคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีมติตรึงราคาก๊าซแอลพีจีไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ถึงสิ้นปี 2564 คาดว่าจะประชุมขอตรึงต่ออีกแค่ 1-2 เดือน หรือประมาณถึง ก.พ. ปีหน้าเท่านั้น จากนั้นหากราคาตลาดโลกปรับขึ้นก็ต้องทยอยปรับขึ้นตามขั้นบันได

ถ้าพูดกันให้ชัดคือปล่อยไปตามยถากรรมแล้ว!!! ถ้าราคาตลาดโลกขึ้น เราก็ต้องขึ้น แต่อาจค่อย ๆ ปล่อยไปทีละขั้น ไม่พุ่งพรวดเพราะอั้นราคามานานจนกองทุนฯติดลบแดงเถือก เฉพาะฝั่งบัญชีแอลพีจีติดลบมากกว่า 2 หมื่นล้านบาทมานาน และไม่มีทีท่าจะหยุดไหลอีก

ส่วนวิบากกรมที่ลากยาวมาถึงปี 2565 คือค่าไฟที่ประกาศให้ทำใจตั้งแต่ปลายปี 2564 ปรับขึ้นงวดแรก (ม.ค.–เม.ย.) ปี 2565 ถือเป็นของขวัญที่ประชาชนไม่อยากได้ ขึ้นมา 16.71 สตางค์ จาก-15.32 สตางค์ เป็น 1.39 สตางค์และราคาค่าไฟปี 2565 ส่อลากยาวแนวโน้มขึ้นปีนี้ หลังจากเงินที่มาอุดหนุนค่าไฟหมดแล้วเช่นกัน โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ระบุให้ทำใจล่วงหน้า ราคาพลังงานถูกจะค่อย ๆ หมดไป แต่จะพยายามทยอยปรับแบบขั้นบันไดเพื่อเฉลี่ยค่าใช้จ่ายตลอดทั้งปี 2565 ที่มีแนวโน้มต้นทุนสูงขึ้น เป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่า ก๊าซธรรมชาติเหลวแบบราคาตลาดจร (สปอต แอลเอ็นจี) มีราคาสูง

ประกันโควิด เจอ จ่าย เจ๊ง

ขวบปีที่ผ่านมาถือเป็นปีแห่งความบอบช้ำของวงการประกันวินาศภัยอย่างแท้จริง ทั้งของชาวบ้านที่ซื้อทำประกัน และบริษัทประกันที่เปิดรับประกันโควิด เพราะหลังปีก่อนโกยกำไรจากขายประกันโควิดกันถล่มทลาย ทว่าปีนี้เลยแข่งกันขายหวังฟาดกำไรต่อแต่ผลกลับไม่เป็นดังคาด โควิดกลับแพร่ระบาดในประเทศอย่างหนัก จนมียอดผู้ติดเชื้อเกินกว่า 2 ล้านคนส่งผลให้มีคนเข้ามาขอเคลมประกันพุ่งขึ้น 400% และยอดเคลมทั้งปีจ่อทะลุ 40,000 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทประกันหลายแห่ง โดยเฉพาะที่เปิดทำประกันแบบ เจอ จ่าย จบ ขาดทุนกันระนาว ขาดสภาพคล่องหาเงินมาจ่ายเคลมได้ไม่ทัน บางรายค้างจ่าย 3-4 เดือน ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ 15 วัน จนผู้เอาประกันอดรนทนไม่ไหวต้องบุกไปล้อมบริษัทจนเป็นข่าวใหญ่โตแถมบางคนถูกส่งหนังสือขอยกเลิกประกันโควิดหรือบีบให้เปลี่ยนกรมธรรม์อื่นแทน

อย่างไรก็ตาม แม้ คปภ. จะพยายามเข้ามาช่วยประกาศห้ามเทลูกค้ากลางทาง ขณะเดียวกันมีมาตรการทางการเงินช่วยเหลือบริษัทประกัน ทั้งผ่อนปรนสัดส่วนเงินกองทุน เปิดให้เพิ่มทุนกู้เงินมาใช้จ่ายเคลมได้ง่ายขึ้น แต่ท้ายที่สุดบริษัทก็ไปไม่รอดอยู่ดี เลิกกิจการไป 2 ราย ได้แก่ บริษัท เอเชีย ประกันภัย กับ เดอะ วัน ประกันภัย และลอยแพลูกค้าให้กองทุนประกันวินาศภัยเข้ามารับผิดชอบต่ออีก นับหมื่นรายที่สำคัญยังมีอีก 3 บริษัท ที่ขอร่วมมาตรการช่วยเหลือกับ คปภ. ซึ่งต้องลุ้นกันต่อหากโอมิครอนกลับมาระบาดอีกระลอกจะมีบริษัทประกันจะต้องเพลี่ยงพล้ำไปอีกหรือไม่?                                                               

อีเวนต์เจ๊งเพิ่มอีกกว่า100 ราย

สำหรับช่วงปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าโควิดยังทำให้หลายภาคธุรกิจเคราะห์ซ้ำกรรมซัดต่อเนื่องจากปี 2563 โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจจัดงานอีเวนต์ คอนเสิร์ตที่ถูกผู้จัดงานสั่งเบรกและยกเลิกแผนที่เคยตระเตรียมกันไว้ทั้งหมดตามมาตรการของรัฐบาลไม่สามารถออกมาจัดกิจกรรมต่าง ๆ ได้ และมีการปิดกิจการไปอีกกว่า 100 บริษัทหลังจากเมื่อปี 2563 ที่ปิดตัวไป 200-300 บริษัททำให้คนตกงานในระบบอุตสาหกรรมอีเวนต์รวมถึงแสง สี เสียง ดารา นักร้อง พริตตี้อีกประมาณ 200,000-300,000 คน

ห้างปิด ๆ เปิด ๆ ยอดหาย กำไรหด

เช่นเดียวกับบรรดาห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านอาหารในพื้นที่ต้องปิดให้บริการชั่วคราวในพื้นที่คุมเข้มอย่างกรุงเทพฯและพื้นที่ใกล้เคียง โดยตลอดปีมานี้ต้องปิด ๆ เปิด ๆ หรือเปิดได้ไม่เต็มที่ เพราะยังมีมาตรการจากภาครัฐควบคุมต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ทำให้ยอดหายกำไรหดกันเป็นแถว แถมนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เป็นตัวช่วยสร้างยอดขายก็หายไปอีก และที่ร้ายไปกว่านั้นหลังจากรัฐบาลปลดล็อกมาตรการให้ธุรกิจกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ กลับพบว่าพฤติกรรมผู้ซื้อยังเปลี่ยนไปอีกทำให้ต้องมาวิ่งวุ่นปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขายใหม่

โดยสมาคมผู้ค้าปลีกออกมาเปิดเผยว่าโควิดทำให้มูลค่าค้าปลีกและบริการสูญหายกว่า 8 แสนล้านบาท มีคนว่างงาน ผู้เสมือนว่างงาน และแรงงานนอกระบบเพิ่มขึ้นประมาณ 3.2 ล้านคน หนี้ภาคธุรกิจและครัวเรือนเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์และยังมีแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่ลึกและกว้างเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่ได้รับผลกระทบจากโควิด

งดจัดงาน-เทศกาลใหญ่

แทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาในประวัติศาสตร์ชาติไทยหลังจากเทศกาลสำคัญต้องงดจัดไปตลอดทั้งปี หลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิดขึ้นอย่างหนัก เริ่มตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงช่วงต้นปี โดยงานเทศกาลใหญ่ที่สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศคือ งานเคานท์ดาวน์ 2564 จำต้องงดจัดงานทั้งหมด โดยเฉพาะแลนด์มาร์คสำคัญ คือ กรุงเทพฯ ซึ่งเดิมทุก ๆ ปีจะจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ ทั้งแสง สี เสียง มหกรรมคอนเสิร์ตแต่เพื่อไม่ให้คนมารวมตัวกันจนเกิดความเสี่ยงในการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้น ดังนั้นเทศกาลงานปีใหม่งานเคานท์ดาวน์ปีนี้ จึงต้องยกเลิกไป เช่นเดียวกับเมืองสำคัญ ๆ ในทั่วทุกภูมิภาคก็ต้องถูกยกเลิกไปด้วยและปรับมาเป็นการนับถอยหลังกันทางออนไลน์แทน

ต่อมาไม่นานนักในเดือน ก.พ. กับเทศกาลตรุษจีนซึ่งเป็นเทศกาลสำคัญของชาวไทยเชื้อสายจีนที่จะเดินทางมาเฉลิมฉลองเทศกาลนี้กันอย่างคึกคัก และประเทศไทยเองก็เป็นประเทศที่จัดเทศกาลนี้นอกประเทศจีนที่น่าจะใหญ่ที่สุดในโลก แต่ท้ายที่สุดก็ไม่สามารถจัดงานขึ้นได้เพราะการระบาดของโควิดยังคงรุนแรง และไม่มีการฉีดวัคซีนให้กับคนส่วนใหญ่ ดังนั้นเพื่อความแน่ใจทางกรุงเทพฯ จึงได้งดจัดเทศกาลตรุษจีน เยาวราช ขึ้นเหมือนทุก ๆ ปีอีกทั้งตลาดนักท่องเที่ยวสำคัญ คือประเทศจีนยังไม่ให้คนเดินทางออกนอกประเทศจึงทำให้เทศกาลตรุษจีนปีนี้สุดเงียบเหงา

ส่งท้ายกับเทศกาลใหญ่ คือเทศกาลสงกรานต์เดิมหมายมั่นปั้นมือว่าจะจัดขึ้นได้อย่างแน่นอน หลังจากพลาดงานเทศกาลใหญ่ไปถึง 2 งาน เมื่อช่วงต้นปี ทั้งเคานท์ดาวน์ และตรุษจีน แต่เคราะห์ซ้ำกรรมซัดดันเกิดการระบาดของโควิดระลอกเดือนเมษายน ด้วยไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาอย่างรุนแรง ทำให้ต้องยกเลิกจัดงานสงกรานต์แทบจะนาทีสุดท้าย โดยพื้นที่ท่องเที่ยวสาดน้ำสำคัญทั่วประเทศถูกยกเลิกงานทั้งหมด แม้ที่ผ่านมาทางภาครัฐและเอกชนจะลงทุนเตรียมงานไปแล้ว และแน่นอนทุกพื้นที่มีบรรยากาศเงียบเหงาอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นข่าวร้ายของประเทศไทยและเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องเจอกับผลกระทบอย่างยาวนาน

จากผลพวงเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นลามเป็นวงกว้างทั่วโลกนานกว่า 2 ปี ส่งผล กระทบถึงเศรษฐกิจตกต่ำ แรงงานถูกเลิกจ้าง ธุรกิจปิดกิจการพุ่ง รายได้ของคนหาเช้ากินค่ำต้องทำใจ นับเป็นอีกหนึ่งปีวิบากกรรมของคนไทยที่ต้องช่วยเหลือกันให้ผ่านพ้นวิกฤติและขอให้ปี 2565 เป็นปีเสือใจดีกับทุก ๆ คน.

ทีมเศรษฐกิจ