ก่อนก้าวสู่ศักราชใหม่ 2022 วันส่งท้ายปีฉลู 2021 ที่ฉุดความสุขคนไทยให้ชอกช้ำกันอีกปีกับ “วิกฤติโควิด-19” แวดวงคมนาคมขนส่งมีปรากฏการณ์และหลากหลายเรื่องราว “ทอล์ก ออฟเดอะทาวน์” สุดจัดให้บันทึก

ศักดิ์สยาม” รมต.คนแรกติดโควิด-19

อย่างฮือฮาเมื่อ รมว.คมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ เป็นรัฐมนตรีคนแรกในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ติดเชื้อโควิด-19 จากทีมงานหน้าห้องคลัสเตอร์ “ทองหล่อ” แม้เจ้าตัวจะยืนยันว่าไม่ได้ไปเที่ยวผับทองหล่อ พร้อมท้าให้หาหลักฐานมาแฉ แต่ก็ถูกสังคมสร้างกระแสเต็มหน้าฟีดว่าเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์จากสถานบันเทิงย่านทองหล่อ หนำซ้ำยังถูก ส.ส.พรรคเล็กขุดภาพมาอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา ซึ่ง รมว.ศักดิ์สยาม ได้ชี้แจงว่าแค่ภาพสะท้อนชีวิตหนุ่มโสด ร้องคาราโอเกะ ดื่มนมชมพู หาความสุขหลังเลิกงาน ไม่ใช่ชายเสเพล ใช้ชีวิตประมาท จนเกิดคลัสเตอร์การระบาด และแจ้งความดำเนินคดีเอาผิดกับผู้ปล่อยภาพและปล่อยข่าวใส่ร้าย …ฉายา “โอ๋ แซ่รื้อ” ที่สื่อมวลชน ประจำทำเนียบรัฐบาลตั้งให้ในปีก่อน ได้ฉายาใหม่ “สายขม นมชมพู” มาแทนที่ในปีนี้

สร้างเสร็จ 2 ปีไม่โอเค “สนามบินเบตง”

สนามบินเบตง” ปักธงเปิดบริการไว้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 63 เข้าใจได้ว่าพิษโควิด-19 ต้องเลื่อนออกไป แต่เมื่อสถานการณ์ระบาดคลี่คลาย ก็ยังไม่สามารถเปิดบริการได้ เนื่องจากติดล็อกสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) พบข้อบกพร่องด้านการบริหารความปลอดภัยด้านการบิน 72 ข้อ แม้กรมท่าอากาศยาน (ทย.) จะแก้ไขเสร็จแล้ว แต่ยังไม่จบรอ กพท. พิจารณาออกใบรับรองสนามบินสาธารณะเพื่อให้บริการเที่ยวบินพาณิชย์ได้

ล่าสุด รมว.ศักดิ์สยาม สั่งการ ทย. เร่งเจรจาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ (PSO) เนื่องจาก ทย. ขาดเม็ดเงินบริหารสนามบิน ขณะที่สายการบินนกแอร์ และสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ที่มีเครื่องบินแบบใบพัดตามสเปกที่สร้างรันเวย์รองรับไว้ ก็ยังไม่ประกาศชัดเจนว่าจะทำการบิน รอภาครัฐสนับสนุนลดค่าธรรมเนียมขึ้นลงอากาศยาน 50% ยกเว้นค่าธรรมเนียมจอดอากาศยาน รวมทั้งเงื่อนไขการรับประกันที่นั่งผู้โดยสาร 75%

วันนี้สนามบินเบตงก่อสร้างเสร็จมานานกว่า 2 ปี ศักยภาพความโดดเด่นของสนามบินน้องใหม่ลำดับที่ 29 สนามบินที่สวยที่สุดท่ามกลางธรรมชาติหุบเขาโอบล้อมและกลิ่นอายทะเลหมอก อัยเยอร์เวง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของไทย ยังจับต้องไม่ได้ …
ปีใหม่นี้จะโอเคได้ใช้สนามบินเบตงหรือไม่???

ดับฝันคนต่างจังหวัดได้นั่งรถไฟฟ้า

คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) มอบหมายการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ในภูมิภาค 4 จังหวัด ประกอบด้วย โครงการแทรมภูเก็ต แทรมเชียงใหม่แทรมนครราชสีมา และแทรมพิษณุโลก รฟม. ประกาศให้แทรมภูเก็ตเป็นรถไฟฟ้าเส้นแรกในต่างจังหวัดของ รฟม. แพลนก่อสร้างภายในปี 63 เปิดบริการปี 67 ปลุกความฝันของผู้คนต่างจังหวัดที่จะได้นั่งรถไฟฟ้า

แต่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม สั่ง รฟม.รื้อโครงการแทรมภูเก็ตเป็นระบบรถโดยสารอัจฉริยะ (Automated Rapid Transit) หรือเออาร์ที (ART) ด้วยเหตุผลว่าเพื่อลดต้นทุนค่าก่อสร้างประหยัดงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งใช้ภูเก็ตเป็นต้นแบบทบทวนใน 3 จังหวัดที่เหลือด้วย แม้ต่อมาจะชี้แจงว่าเออาร์ทีไม่ใช่รถเมล์ล้อยาง เป็นแทรมล้อยาง แต่ภาคเอกชนใน จ.ภูเก็ต ก็ยังคัดค้านแทรมล้อยาง ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคอลเอาต์#แทรมล้อเหล็ก เพื่อเชิดหน้าชูตาเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของไทย

บ๊ายบาย! จากลา “คมนาคมยูไนเต็ด”

บิ๊กเซอร์ไพร้ส์!! ข้าราชการกระทรวงคมนาคม เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 14 ก.ย. 64 อนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอแต่งตั้งอธิบดีกรม 3 ราย มีชื่อ นายปฐม เฉลยวาเรศ อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงฯ ให้ นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) มาเสียบแทน เพราะไม่มีสัญญาณใด ๆ บ่งชี้มาก่อนว่านายปฐม ซึ่งเป็นบุคคลในเครือข่าย “ยูไนเต็ด” จะถูกเด็ดออกจากขั้ว ไร้ซึ่งคำอธิบายจากหัวหน้าทีมคมนาคมยูไนเต็ด ศักดิ์สยาม ชิดชอบ และคนถูกเด็ดตกเก้าอี้ มีแต่หนังสือลาออกจากราชการก่อนเกษียณ 1 ปีของนายปฐม แจ้งความประสงค์ “ปัญหาด้านสุขภาพ”

เวลาไล่เลี่ยกัน อธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) นายวิทยา ยาม่วง บ๊ายบายเป็นรายที่ 2 ให้เหตุผลในหนังสือขอลาออกจากราชการ “ต้องดูแลครอบครัว” ทั้งที่เหลืออายุราชการอีกหลายปีและรู้กันดีว่าเจ้าตัวมีความมุ่งมั่น ทุ่มเทที่จะพลิกโฉมการบริหารกรมเจ้าท่าเพื่อยกระดับบริการทางน้ำให้กับประชาชน เนื่องจากอยู่ในแวดวงงานทางน้ำ เติบโตไต่เต้า สู่อธิบดีกรมฯ จากนักเรียนจ่าทหารเรือ …มีแค่เสียงลือเสียงเล่าอ้างระเบิดระเบ้อว่าทั้งคู่ทำงานไม่สนองนโยบาย และถูกกดดันหนักมาก เลยจากลา…เพื่อความสบายใจ

น้ำท่วมถนนพังซ่อมซ้ำซากทุกปี

น้ำท่วมปี 64 เส้นทางคมนาคมกว่า 46 จังหวัดได้รับผลกระทบทั้งทางหลวงและทางหลวงชนบทบางเส้นทางจมมิดกว่า 2 เมตร ภาพชินตาทางขาด ทรุด พัง คอสะพานชำรุด ดินถล่มวนลูป กลับมา น้ำป่าหลากท่วมทางหลวงหมายเลข 12 (ทล.12) สายตาก-แม่สอด ตอนแม่ละเมา-ตาก เกิดปรากฏการณ์น้ำตกดอยรวก เพราะเร่งระบายน้ำกันจ้าละหวั่นจนเป็นม่านน้ำตก น้ำท่วมถนนเพชรเกษมถูกตัดขาดรถติดยาวเหยียด รวมถึงท่วมรางรถไฟงดเดินขบวนรถหลายเส้นทาง ขบวนลงใต้จอดกะทันหันไปต่อไม่ได้ ผู้โดยสารติดค้างบนขบวนรถ สังคมเข้าใจว่าภัยธรรมชาติหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องถอดบทเรียน แก้ไขปัญหาน้ำท่วมเส้นทางคมนาคมแบบถาวร อย่าซ่อมซ้ำซากทุกปี เสียดายงบประมาณ

ยี้ๆๆ รื้อแบบชานชาลาสูงสร้างชานฯ ต่ำ

กลุ่มคนรักรถไฟ และประชาชนทั่วไปไม่ยอม!! เมื่อมีไอ้โม่งในการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) สั่งปรับแบบก่อสร้างชานชาลาในโครงการรถไฟทางคู่ ระยะ (เฟส) ที่ 1 จากชานชาลาสูง 110 เซนติเมตร (ซม.) ซึ่งเท่ากับพื้นตู้โดยสารรถไฟอำนวยความสะดวกผู้โดยสารทุกคนเหมือนชานชาลารถไฟฟ้ามาเป็นชานชาลาต่ำ 50 ซม. ก้าวขึ้นลงขบวนรถลำบาก ทั้งที่เรื่องความสูงชานชาลาสถานีมีข้อสรุปให้ใช้ชานฯ สูง ไปนานแล้ว

โดยส่งข้อมูลเข้ามาร้องเรียนหนังสือ พิมพ์เดลินิวส์ และเพจเฟซบุ๊ก “ข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” นำเสนอข่าวต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 64 อาศัยพลังเสียงโซเชียลช่วยขับเคลื่อน ใช้เวลากว่า 8 เดือน จน รฟท. แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาใหม่และมีมติให้กลับไปใช้ความสูงของชานชาลา 110 ซม. ทั้งสถานีขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่หยุดรถ และป้ายหยุดรถ ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและที่จะก่อสร้างใหม่ในอนาคต ส่วนที่สร้างชานฯ ต่ำไปแล้วให้ยกขึ้นสูงเช่นเดิม ประชาชนขอบคุณการรถไฟฯ ที่ฟังเสียงสังคม ตอกย้ำว่าประเทศไทยเป็นสังคมที่ต้องขับเคลื่อนด้วยการต่อว่า (ด่า)

แต่เดี๋ยวก่อน…เรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะประชาชนร้องเรียนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน (สผผ.) ตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลด้วย เพราะการปรับแบบส่งผลให้โครงการล่าช้า ประชาชนเสียโอกาสในการใช้บริการ และสิ้นเปลืองงบประมาณรื้อชานชาลาต่ำสร้างใหม่ …ต้องมีผู้รับผิดชอบ

ดราม่า “สถานีหัวลำโพง”

แม้ประเด็นร้อนจะถูกขยายผลด้วยการสร้างกระแสไปไกลเกินข้อเท็จจริงว่ารัฐบาลและกระทรวงคมนาคมจะทุบ-รื้อ-หรือปิดสถานีหัวลำโพง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้นตอดราม่า มาจากนโยบาย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่สั่งการให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยกเลิกเดินขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง จากแผนเดิมที่จะให้เข้าสถานีหัวลำโพง 22 ขบวนจาก 118 ขบวน เพื่อลดบทบาทสถานีหัวลำโพง ไปผลักดันสถานีกลางบางซื่อให้เป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางของอาเซียน รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้เอกชนพัฒนาสถานีหัวลำโพง เพื่อสร้างรายได้ล้างหนี้ รฟท. กว่า 6แสนล้าน จนถูกสังคมถล่มยับ รมว.ศักดิ์สยาม ถอยแทบไม่ทัน

หาทางออกด้วยการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น “อนาคตสถานีหัวลำโพง ประวัติศาสตร์คู่การพัฒนา” และกลับลำสั่งให้ขบวนรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพงตามปกติไปจนกว่าการตรวจสอบหรือเช็กลิสต์ในทุกมิติ ให้ตกผลึกก่อน โดยมีผู้เชี่ยวชาญ และสถาบันการศึกษาร่วมให้คำแนะนำตรวจสอบผลกระทบกับประชาชน…สร้างบทเรียนให้ รมว.ศักดิ์สยาม รอบคอบขึ้น

พลังรถบรรทุกทุบรัฐบาลน้ำมันแพง

แม้จะกดดันให้รัฐบาลปรับราคาน้ำมันดีเซลให้ลงมาอยู่ที่ 25 บาทต่อลิตร ไม่ได้ตามข้อเสนอของสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่มีสมาคมรถบรรทุกกว่า 10 สมาคม รวมกว่า 4 แสนคัน แต่การจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์พลังของคนรถบรรทุก (Truck Power) 2 ครั้ง หยุดวิ่งรถบรรทุกแล้วกว่า 1 แสนคัน และเตรียมจัด “ทรัคพาวเวอร์ไฟนอลซีซั่น” ปลายเดือน ม.ค.นี้ เพื่อประท้วงรัฐบาลอีกรอบ

ท่ามกลางเสียงต้านที่ว่ารถบรรทุกส่วนใหญ่ใช้ก๊าซเป็นเชื้อเพลิงไม่ได้ใช้น้ำมัน กับคำถามว่าราคาน้ำมันเคยแพงกว่านี้ แต่กลับเงียบ ครั้งนี้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เบื้องหลังหรือไม่??ส่วนเสียงเชียร์ก็รัว ๆ ว่าเดือดร้อนจริง ๆ และเพิ่มพลังตอกย้ำความล้มเหลวในการบริหารประเทศให้ฝั่งตรงกันข้ามที่ต้องการโค่นรัฐบาล…เมื่อยังไม่บรรลุเป้าหมาย พลังรถบรรทุกตามทุบรัฐบาลต่อไป

ขอให้ทุกท่านโชคดี มีสุขภาพแข็งแรง…แฮปปี้นิวเยียร์ 2022.