สวัสดีปีใหม่ 2565 แจกความสดใส ให้ใจฟู ๆ ด้วยเซตของขวัญ “คมนาคม” ทั้งบกน้ำรางอากาศ เตรียมเปิดบริการสด ๆ ซิง ๆ ตลอดทั้งปี พุ่งตัวติดตามกันได้เลยจ้า!

วิ่งฉิว “ทางต่างระดับเขาหินซ้อน”
ลุยประเดิมทางบก กรมทางหลวง (ทล.) เครื่องแรงไม่มีแผ่ว มอบ 3 โครงการใหม่ให้วิ่งฉิว โครงการแรก “ทางแยกต่างระดับเขาหินซ้อน” จุดตัดทางหลวงหมายเลข 304 (ทล.304 ) ช่วง กม.126+000-กม.128+000 ตัดทางหลวงหมายเลข 359 ช่วง กม.72+719 ต.เขาหินซ้อน อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา ระยะทาง 3.050 กม. งบประมาณ 513,959,300 บาท ทล.304 เริ่มต้นจาก จ.นนทบุรี ผ่านกรุงเทพมหานคร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สิ้นสุดที่ จ.นครราชสีมา ระยะทาง 298.515 กม.

ทางแยกต่างระดับเขาหินซ้อน มีไอเดียออกแบบ 4 จุดสำคัญคือ 1.ปรับปรุงทล. 304 จากกม. 125+700-กม.128+000 ระหว่าง อ.กบินทร์บุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา เป็นถนนยกระดับพื้น 2 ทิศทาง ทิศทางละ 3 ช่อง พร้อมเกาะกลางแบบยก 2.ก่อสร้างทางลาดเชื่อมทางเลี้ยวตรง กม.126+788 รองรับปริมาณจราจรในทิศทางเลี้ยวขวาจากจ.ฉะเชิงเทรา ไป จ.สระแก้ว ตามทล.359 ขนาด 2 ช่อง 3.ก่อสร้างสะพานบนทล.304 ให้ทางคู่ขนานกลับรถใต้สะพานกม.ที่ 126+255 ทั้ง 2 ทิศทาง รองรับรถจากทล.359 ที่ต้องการเลี้ยวขวาเข้าทล.304 เพื่อไป อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี และ 4.ก่อสร้างที่กลับรถใต้ทล.304 ที่กม.127+248 สำหรับรถในชุมชนและผู้อาศัยบริเวณถนนโครงการเพื่อเดินทางไป จ.ฉะเชิงเทรา บนทล.304 และ จ.สระแก้ว บนทล. 359 พร้อมทางคู่ขนาน 2 ช่องรวมทั้งไหล่ทางและทางเท้า

ช่วยทะลวงวิกฤติรถติดแยกเขาหินซ้อน ลดปัญหาอุบัติเหตุ เดินทางสะดวกสบายยิ่งขึ้น

เปิดทางหลวงแนวใหม่ทะลุกัมพูชา
เดือน มี.ค. ถึงคิวเปิดบริการทางหลวงหมายเลข 3646 สาย อ.อรัญประเทศ-ชายแดนไทย/กัมพูชา (บ้านหนองเอี่ยน-สตึงบท) ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 33 (สายสุพรรณบุรี-อรัญประเทศ) บรรจบทางหลวงหมายเลข 3586 ช่วง กม. 0+000-25+211 ระยะทาง 25.211 กม. งบประมาณ 1,900,030,700 บาท

มีจุดเริ่มต้นที่ ต.ผักขะ อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว สิ้นสุด ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ แบ่งเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 ช่วง กม.0+000-10+500 ระยะทาง 10.500 กม. งบ 1,007,157,900 บาท คืบหน้า 92.74% และตอนที่ 2 ช่วง กม.10+500-25+211 ระยะทาง 14.711 กม. งบ 892,872,800 บาท คืบหน้า 94.78% ก่อสร้างด้วยมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่องไปกลับ ผิวทางคอนกรีต มีไหล่ทาง เกาะกลางแบบกดเป็นร่อง พร้อมสะพานคู่ข้ามทางรถไฟ 4 ช่อง ทางกลับรถใต้สะพาน 2 ช่อง งานไฟฟ้าแสงสว่างตลอดเส้นทาง

ใจความสำคัญของโครงการจะเชื่อมโยงโครงข่ายทล. 33-ทล. 3366-สะพานข้ามคลองพรมโหด-บ้านหนองเอี่ยน ต.ท่าข้าม อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว กับบ้านสตึงบท ต.ปอยเปต อ.โอโจรว จ.บันเตีย
เมียนเจย ประเทศกัมพูชา แบ่งเบาจุดผ่านแดนถาวร บ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว (บริเวณตลาดโรงเกลือ) ที่หนาแน่น สนับสนุนการค้าการลงทุนพื้นที่ชายแดนส่งเสริมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)

เท่!แบบยาวสุด ๆ วงแหวนรอบเมืองโคราช
ได้ผลงาน 91.551% แล้วสำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 290 สายถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 2068-บรรจบทางหลวงหมายเลข 205 (ด้านเหนือ) (รวมทางแยกต่างระดับ) ตอน 2 ช่วง กม.9+900-กม.24+400 ระยะทาง 14.5 กม. งบประมาณ 1,400,998,295 บาท จะได้วิ่งกันเท่ ๆ ประมาณกลางปีนี้

มีจุดเริ่มต้น กม.9+900 (ต่อจาก ตอน 1) ผ่านพื้นที่บ้านโคกแขวนใหม่ ต.บึงอ้อ อ.ขามทะเลสอ ผ่านคลองชลประทานบึงพุดซา บ้านซาด บ้านกำปังไปบรรจบทล. 205 (ถนนสุรนารายณ์) ช่วง กม. 24+400 บริเวณบ้านโคกสูง ต.โคกสูง อ.เมือง จ.นครราชสีมา ไฟฟ้าส่องสว่างมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่อง ผิวทางคอนกรีตทั้งหมด ข้างละ 2 ช่องแบ่งทิศทางด้วยร่องน้ำและมีไหล่ทาง

ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา เป็นถนนตัดใหม่ หลบเลี่ยงความพลุกพล่านในตัวเมืองโคราชยาวถึง 110.3 กม. ได้ใช้แล้ว 50 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง 60.3 กม. คาดว่าจะสร้างเสร็จตลอดเส้นทางเดือน ก.ย.ปี 66 มาพร้อมฉายา “ถนนวงแหวนยาวที่สุดในต่างจังหวัด” และเป็นอันดับ 2 ของไทย รองจากวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ (ถนนกาญจนาภิเษก) คว้าแชมป์ไปในระยะทาง 168 กม.

นั่งเรือไฟฟ้าคลองแสนแสบไปมีนบุรี
ปักหมุดความสดชื่นทางน้ำไว้ที่ต้นเดือน ก.พ. กรุงเทพ มหานคร (กทม.) เปิดเรือไฟฟ้าสายใหม่ “ท่าเรือวัดศรีบุญเรือง-ท่าเรือตลาดมีนบุรี” ระยะทาง 10.50 กม. ส่วนต่อขยายจากสะพานผ่านฟ้าลีลาศ-วัดศรีบุญเรืองของบริษัทครอบครัวขนส่ง (2002) จำกัด 2-3 เดือนแรกแฮปปี้ได้ใช้ฟรี จากนั้นเก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย

เรือไฟฟ้ามีขนาด 40 ที่นั่ง ความยาว 12.50 เมตร กว้าง 3.20 เมตร ระยะกินน้ำลึก 0.60 เมตร ความสูงจากระดับน้ำ 2.60 เมตร ความเร็วสูงสุด 17 กม./ชม. ความเร็วใช้งาน 10-15 กม./ชม. พร้อมที่นั่งสำหรับผู้พิการใช้รถเข็นวีลแชร์ 2 จุด และจุดแขวนจักรยาน 2 จุด ให้บริการ 12 ลำ ทุกวัน วันราชการ เวลา 05.30-20.30 น. และวันหยุดราชการ 06.00-19.00 น. ตลอดเส้นทางชมธรรมชาติ 2 ฝั่งคลองมีท่าเทียบเรือบริการ 12 ท่า ได้แก่

1.ท่าเรือวัดศรีบุญเรือง 2.ท่าเรือห้างพาซิโอ 3.ก่อสร้างใหม่ 8 ท่า ท่าเรือโรงเรียนพร้อมมิตรพิทยา ท่าเรือเสรีไทย 26 ท่าเรือคลองระหัส ท่าเรือหมู่บ้านร่มไทร ท่าเรือสุเหร่าแดง ท่าเรือชุมชนหลอแหลใหญ่ ท่าเรือตลาดมีนบุรี และท่าเรือสำนักงานเขตมีนบุรี 4.ท่าเรือเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารบริเวณประตูน้ำบางชัน 2 ท่

ฉลองโมโนเรล 2 สายแรกของไทย
ระบบรางมาแรงแซงโหมดอื่น ด้วยการปล่อยรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) 2 สายแรกของไทย มาให้ฮือฮาจับต้องได้ภายในปีนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ NBM และ บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด หรือ EBM กำลังเร่งทดสอบระบบสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. และสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี 34.5 กม.

ซูมแผนเปิดบริการสายสีเหลือง เริ่มฟินช่วงที่ 1 สถานีภาวนา (YL02)-สถานีสำโรง (YL23) กลางปี 65 ส่วนสถานีลาดพร้าว (YL01) สถานีสุดท้ายรอใช้เต็มอิ่มปลายปี 65

ส่วนสายสีชมพูแจกความสดใสช่วงแรกจากสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12)-สถานีมีนบุรี (PK30) ยกเว้นสถานีนพรัตนราชธานี (PK26) ได้ใช้กลางปี 65, ช่วงที่ 2 สถานีชลประทาน (PK05)-สถานีแจ้งวัฒนะ14 (PK11) และสถานีนพรัตนราชธานี เปิดปลายปี 65 และช่วงที่ 3 สถานีแคราย (PK02)–สถานีศูนย์ราชการจังหวัดนนทบุรี (PK01) ได้นั่งกลางปี 66

สนามบินภูธร” เจิมอาคารผู้โดยสารแจ่ม ๆ
ปิดท้ายกับโหมดอากาศ กรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ท่าอากาศยานในสังกัด 4 แห่ง ให้เจิมกันแจ่ม ๆ พิกัดแรก ท่าอากาศยานกระบี่ นอกจากงานก่อสร้างอาคารที่พัก
ผู้โดยสารหลังใหม่แล้ว ยังมีงานปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลังที่ 1, 2 พร้อมอาคารจอดรถยนต์ วงเงิน 2.92 พันล้าน คืบหน้ากว่า 70% ปลายเดือน ม.ค.นี้ จะเปิดอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ โซนระหว่างประเทศก่อน จากนั้นกลางปี 65 เปิดโซนอื่น ๆ ต่อไป เติมผู้โดยสารได้จาก 1.5 พันคนต่อชม. หรือ 4 ล้านคนต่อปี เป็น 3 พันคนต่อชม. หรือ 8 ล้านคนต่อปี

ท่าอากาศยานสุราษฎร์ธานี กำลังเร่งปรับ ปรุงขยายอาคารที่พักผู้โดยสาร วงเงิน 169 ล้านบาท ได้ผลงานกว่า 80% จะเปิดบริการเดือน มี.ค.65 รองรับผู้โดยสารได้จาก 800 คนต่อชม. หรือ 2.3 ล้านคนต่อปี เป็น 1.4 พันคนต่อชม. หรือ 4.3 ล้านคนต่อปี ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช เปิดบริการช่วงครึ่งปีหลัง 65 อาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ วงเงิน 1.4 พันล้านบาท ได้ผลงาน 81.8% เมื่อแล้วเสร็จรองรับผู้โดยสารได้จาก 450 คนต่อชม. หรือ 1.2 ล้านคนต่อปี เป็น 1,600 คนต่อชม. หรือ 4 ล้านคนต่อปี

ขณะที่ ท่าอากาศยานขอนแก่น เปิดเต็มรูปแบบปลายปี 65 กำลังเร่งก่อสร้างรัว ๆ วงเงินประมาณ 2 พันล้านบาท งานปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสารหลังเดิม, ก่อสร้างอาคารจอดรถยนต์หลังใหม่ และงานปรับปรุงอาคารจอดรถยนต์หลังเดิม กวาดผลงานกว่า 83% เมื่อแล้วเสร็จจะโกยผู้โดยสารได้เป็น 2,000 คนต่อชม. หรือ 5 ล้านคนต่อปี จากเดิม 1,000 คนต่อชม. หรือ 2.5 ล้านคนต่อปี

เติมพลังใจไว้ต่อสู้กับความท้าทายในปี 2022..