สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ว่า กระทรวงพลังงานของอินโดนีเซียประกาศการระงับส่งออกถ่านหินเป็นการชั่วคราว สำหรับเดือน ม.ค. โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. นี้ เนื่องจากมีความวิตกกังวลว่า ปริมาณถ่านหินที่มีอยู่ อาจไม่เพียงพอสำหรับการใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าภายในประเทศ โดยรัฐบาลอินโดนีเซียยืนยันว่า หากไม่มีการดำเนินการเสียตั้งแต่ตอนนี้ ภายในอีกไม่ช้า โรงไฟฟ้าเกือบ 20 แห่ง อาจต้องระงับการทำงานเป็นการชั่วคราว


ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่า “ข้อบังคับตลาดภายในประเทศ” ที่ระบุว่า ผู้ผลิตถ่านหินภายในอินโดนีเซียต้องจัดสรรผลผลิต 25% ต่อปี ให้แก่รัฐวิสาหกิจด้านการผลิตไฟฟ้า ในราคาตันละไม่เกิน 70 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,321.90 บาท) ซึ่งต่ำกว่าราคาปกติในตลาดหลายเท่าตัว และการกำหนดสัดส่วนการส่งออกถ่านหินนับจากนี้ จะขึ้นอยู่กับการใช้ถ่านหินและกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าของรัฐ และบริษัทผลิตไฟฟ้าอิสระ


ขณะที่ สมาคมถ่านหินอินโดนีเซียเรียกร้องรัฐบาลยกเลิกมาตรการนี้ เนื่องจากเป็นการดำเนินการฝ่ายเดียวโดยพลการ ขาดการปรึกษาหารือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง การตัดสินใจฝ่ายเดียวของรัฐบาลอาจส่งผลต่อการใช้งานถ่านหินเดือนละประมาณ 38-40 ล้านตัน และราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลก เนื่องจากลูกค้ารายใหญ่ของถ่านหินจากอินโดนีเซียล้วนเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่


ปัจจุบัน อินโดนีเซียเป็นประเทศผู้ส่งออกถ่านหินชนิดเป็นเชื้อเพลิงให้ความร้อนรายใหญ่ที่สุดของโลก โดยมีปริมาณการส่งออกประมาณ 400 ล้านตัน เมื่อปี 2563 ส่วนลูกค้ารายใหญ่ คือ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้.

เครดิตภาพ : REUTERS