ตลอดเวลาที่รับตำแหน่งมากว่า 2 ปี 5 เดือน “โอ๋ แซ่รื้อ” ที่สื่อมวลชนยกให้ตั้งแต่ปีแรกยังรั้งฉายานี้ไว้อย่างเหนียวแน่น (ฉายาใหม่ “สายขม นมชมพู”) สานตำนาน แซ่รื้อล่าสุดด้วยการสั่งรื้อแผนเดินรถ “สถานีรถไฟหัวลำโพง” ห้ามรถไฟทุกขบวน เข้าหัวลำโพง จากแผนเดิมของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะให้เข้าหัวลำโพง 22 ขบวน จาก 118 ขบวน เพื่อลดบทบาทหัวลำโพง ปั้น “สถานีกลางบางซื่อ” ให้ทรงพลังเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางรางของอาเซียน รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้เอกชนพัฒนาสถานีหัวลำโพงปั๊มรายได้ไปล้างหนี้ที่พอก รฟท. กว่า 6 แสนล้านบาท และแก้ปัญหารถติดจากจุดตัดรถไฟจนถูกสังคมถล่มยับ เนื่องจากทำงานโดยปราศจากการวางแผนและไม่รับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อน

ผ่านมาแล้วกว่าครึ่งทาง เช็กลิสต์ผลงาน รมว. ศักดิ์สยาม จากนโยบายที่ประกาศไว้ในวันที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือน ก.ค. ปี 62 ซึ่งมีทั้งแบบเร่งด่วน 1 เดือน 3 เดือน และระยะยาว 3 ปี

นโยบายแรกที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน
1.การแก้ไขปัญหาโครงการปรับปรุงถนนพระราม 2 ที่ล่าช้าเกิดปัญหาการจราจรติดขัด ประชาชนยกให้เป็น “ถนน 7 ชั่วโคตร” วันนี้ถือว่าคล่องตัวขึ้น กรมทางหลวง (ทล.) ปิดงานก่อสร้างขยายผิวทางพื้นราบจาก 10 ช่องเป็น 14 ช่องเสร็จแล้ว แต่กำลังก่อสร้างทางยกระดับบนถนนพระราม 2 ระยะทาง 10.6 กิโลเมตร (กม.) มีความคืบหน้ากว่า 50% คาดว่าจะแล้วเสร็จเดือน ส.ค. 65
2.การปรับเวลาเดินรถเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล ของรถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ช่วงแรกขับเคลื่อนนโยบายท่ามกลางเสียงต่อต้านจากผู้ประกอบการรถบรรทุก จึงหยุดรับฟัง และแล้วก็เงียบกริบ
3.การเพิ่มความเร็วรถส่วนบุคคลบนถนน 4 ช่องทางขึ้นไป ให้เหยียบได้ไม่เกิน 120 กิโลเมตร (กม.) ต่อชั่วโมง (ชม.) จากเดิม ไม่เกิน 90 กม.ต่อชม. คิกออฟกันไปเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 64 บนทางหลวงหมายเลข 32 หรือถนนเอเซีย ช่วงบางปะอิน-พยุหะคีรี 45.9 กม. ตามด้วยเฟส 2 อีก 6 เส้นทาง 128 กม. รวมกว่า 170 กม. ปี 65 จะอัพสปีดเพิ่ม 9 เส้นทาง 138 กม.

4.ปรับลดค่าโดยสารรถไฟฟ้าและค่าผ่านทางพิเศษ(ทางด่วน) เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ประเดิมกับรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง จากสถานีคลองบางไผ่ ถึงสถานีเตาปูน เหลือ 14–20 บาท จากปกติ 14–42 บาท และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เหลือ 15-25 บาท จาก 15–45 บาท ส่วนรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ และทางด่วนยังไม่บังเกิด
5.ให้บริการรถเมล์องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และรถร่วมบริการ เป็นรถโดยสารปรับอากาศ สั่งการ ขสมก.ศึกษาแผนจัดหารถเมล์ใหม่แบบจ้างเหมาบริการประชาชนไปก่อน ระหว่างรอแผนฟื้นฟู ขสมก.เข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) 
6.เก็บค่าโดยสารระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ (E–Ticket) และยกเลิกไม้กั้นด่านเก็บเงินทางด่วน และทางหลวงพิเศษระหว่าง เมือง (มอเตอร์เวย์) กรมทางหลวงเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนใช้ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) บนมอเตอร์เวย์หมายเลข 9 (บางนา-บางปะอิน) 4 ด่าน ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 และด่านธัญบุรี 2 แล้ว ประเมินจากยอดลงทะเบียนที่จัดโปรโมชั่น 1 แสนสิทธิให้วิ่งฟรี 2 เที่ยว แต่ลงทะเบียนแค่ 2 หมื่นคันกว่า ๆ พร้อมเสียงสะท้อนว่า ขั้นตอนลงทะเบียนเยอะ…ยุ่งยากเกินไป เตรียมเปิดบริการจริงให้วิ่งฉิวจ่ายค่าผ่านทางผ่านระบบออนไลน์เร็ว ๆ นี้ส่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ติดตั้งระบบ M-Flow ระยะที่ 1 บนทางด่วนฉลองรัช นำร่อง 3 ด่าน (จตุโชติ สุขาภิบาล 5-1 และสุขาภิบาล 5-2) ติดอุปกรณ์เสร็จบางส่วน และเริ่มติดตั้งโครงป้ายคร่อมช่องจราจร (Gantry) ที่ด่านนำร่องแล้ว คาดว่าจะจัดจ้างงานบริหารจัดการระบบฯ ได้ในเดือน ม.ค. 65 จากนั้นจะติดตั้ง และทดสอบระบบภายในเดือน ก.พ.-มี.ค. 65

ต่อด้วยนโยบายที่ต้องแล้วเสร็จภายใน 3 เดือน ได้แก่
1.การให้บริการรถรับจ้างโดยสาร สาธารณะผ่านแอพพลิเคชั่นถูกกฎหมาย
(หรือที่สังคมเข้าใจง่าย ๆ คือให้รถป้ายดำวิ่งรับส่งผู้โดยสารได้ตามระบบกฎหมาย จากเดิมให้เฉพาะรถป้ายเหลืองสาธารณะ) กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) อยู่ระหว่างเปิดให้ผู้สนใจให้บริการแอพพลิเคชั่น หรือเจ้าของแอพ ยื่นเรื่องขออนุญาตมีผู้สนใจเบื้องต้น 5-6 ราย เช่น บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด (Grab), บอนกุ (BONKU), บริษัท ฮัลโหลภูเก็ตเซอร์วิส จำกัด (Hello Phuket) และ แอร์เอเชีย คาดว่าจะให้บริการได้ภายในปี 65
2.การใช้บัตรโดยสารเชื่อมโยงรถไฟฟ้าทุกระบบ (ตั๋วร่วม) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทย จะนำบัตรเครดิต หรือเดบิต (Europay Mastercard and Visa : EMV) มาใช้พัฒนาระบบตั๋วร่วมในรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง สายสีน้ำเงินและรถไฟชานเมืองสายสีแดงของ รฟท. แต่ก็เลื่อนแล้วเลื่อนอีก เลื่อนไปเรื่อย ๆ ล่าสุดเซตใหม่จะเปิดให้ใช้บริการเดือน มี.ค. 65 รองรับรถเมล์ ขสมก., บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด, ระบบเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า และทางด่วนของ กทพ. ด้วย

ด้านนโยบายที่ต้องแล้วเสร็จใน 3 ปี ได้แก่
1.เพิ่มการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางเป็น 30%
จาก 5-10% ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรม และถูกวิพากษ์วิจารณ์ระเบิดระเบ้อจากแฟนคลับระบบขนส่งทางรางที่ไม่แฮปปี้เพราะสั่งรื้องานระบบรางหลายโปรเจคท์ได้เวลาประกวดราคา (ประมูล) กลับต้องหยุดชะงัก และถอยหลังไปศึกษาทบทวน นับหนึ่งกันใหม่ อาทิ โครงการรถไฟฟ้ารางเบา (แทรม) ภูเก็ต ให้เปลี่ยนเป็นรถเมล์ล้อยางชื่ออินเตอร์ “ART” รวมทั้งรื้อโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดงให้เอกชนเข้ามาร่วมทุนแบบ PPP ทำให้การก่อสร้างล่าช้าจากแผนเดิมไปหลายปี ถูกมองว่าให้ความสำคัญกับงานก่อสร้างถนนจนได้ชื่อใหม่ว่า “เจ้ากระทรวงทางหลวง”
2.นโยบายเพิ่มศักยภาพท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูมิภาค ให้รองรับผู้โดยสารได้ไม่น้อยกว่า 150 ล้านคน ก็มีแค่แผนแต่ยังไม่มีผลงานที่จับต้องได้ อย่างไรก็ตาม มีนโยบายที่ รมว. ศักดิ์สยาม โฟกัสเป็นพิเศษโดยไม่อยู่ในแผนนโยบายที่ให้คำมั่นไว้ นั่นคือ การนำยางพารามาใช้เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน โดยใช้กำแพงคอนกรีตหุ้มด้วยแผ่นยางธรรมชาติ (Rubber Fender Barrier : RFB)
และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) บนทางหลวงและทางหลวงชนบท ซึ่งแล้วเสร็จหลายเส้นทาง

“ตลอดระยะเวลาดำรงตำแหน่ง รมว.คมนาคม ได้พยายามเร่งรัด และดำเนินการทุกนโยบายอย่างเต็มที่ แต่นโยบายเหล่านี้จะสำเร็จ 100% หรือไม่ ต้องรอดู เพราะแต่ละเรื่องมีปัจจัยบางประการที่เป็นข้อจำกัด ทำให้ต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น และไม่แล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่วางไว้ แต่ขอให้มั่นใจว่านโยบายทุกเรื่องกำลังขับเคลื่อนอยู่ ใจอยากให้นโยบายสำเร็จทุกเรื่อง เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในการเดินทางให้กับประชาชน” รมว.ศักดิ์สยาม บอกถึงข้อจำกัด

พร้อมแจกแจงว่า ในปี 65 กระทรวงคมนาคม มีแผนดำเนินการ 34 โครงการ วงเงินลงทุน 1.28 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น โครงการลงทุนต่อเนื่อง 11 โครงการ วงเงินลงทุน 3.12 แสนล้านบาท และโครงการลงทุนใหม่ 23 โครงการ วงเงินลงทุน 9.70 แสนล้านบาท ในปีนี้นอกจากต้องผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่ได้ประกาศไว้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรมแล้ว ยังมีนโยบายใหม่ที่ต้องดำเนินการต่อ

“ผมไม่ได้เน้นว่าจะต้องโฟกัสที่นโยบายใดเป็นพิเศษ ทุกเรื่องต้องเร่งทำให้สำเร็จ เพื่อให้ระบบคมนาคมของไทยมีความสะดวก ปลอดภัย ตรงเวลา ราคาสมเหตุสมผล และประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีในการเดินทาง ไม่สามารถให้คะแนนการทำงานตัวเองได้ ต้องให้ประชาชนตัดสิน”

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลเป็นรายบุคคลของฝ่ายค้านในสภา 2 ครั้ง รมว.คมนาคม ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รอดศึกซักฟอกได้ไปต่อ…เกินครึ่งทางเช็กลิสต์รีวิวผลงานแล้วสรุปว่ายังไม่ปัง!!.