สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน เมื่อวันที่ 4 ม.ค. ว่า ประธานาธิบดีอีบราฮิม ไรซี แถลงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 2 ปี กองทัพสหรัฐลอบสังหาร พล.ต.กัสเซ็ม สุไลมานี อดีตผู้บัญชาการกองกำลังนักรบพิเศษ “คุดส์” ของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน ( ไออาร์จีซี ) เมื่อวันที่ 3 ม.ค. 2563 ว่า “ฆาตกร” ซึ่งอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ คือประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐในเวลานั้น และนายไมค์ ปอมเปโอ รมว.การต่างประเทศ ต้องเข้าสู่กระบวนการ “ตามกฎหมายของอิหร่าน” เท่านั้น


ทั้งนี้ กฎหมายของอิหร่านเกี่ยวกับคดีฆาตกรรมระบุว่า ผู้บงการและผู้ลงมือต้องรับโทษประหารชีวิตเท่านั้น หากไม่สามารถประนีประนอมและตกลงเรื่อง “ค่าชดเชย” กับครอบครัวของผู้สูญเสียได้


ด้านสำนักงานอัยการสูงสุดของอิหร่านกล่าวถึงการประสานงานกับหน่วยงานรัฐของอย่างน้อย 9 ประเทศ เกี่ยวกับผู้ต้องสงสัยซึ่งมีการยืนยันตัวตนได้แล้ว 127 คน ในจำนวนนี้ 74 คน เป็นผู้ถือสัญชาติสหรัฐ โดยมีชื่อของทรัมป์ “เป็นหมายเลขหนึ่ง” ซึ่งผู้นำอิหร่านกล่าวด้วยว่า หากไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับอดีตผู้นำสหรัฐได้ รัฐบาลเตหะราน “จะล้างแค้น” แต่ปฏิเสธขยายความ ขณะที่รัฐบาลวอชิงตันชุดปัจจุบันของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังปฏิเสธให้ความเห็นอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับท่าทีของอิหร่าน


สำหรับเหตุการณ์ลอบสังหาร พล.ต.สุไลมานี เกิดขึ้นใกล้กับท่าอากาศยานนานาชาติแบกแดด ในเขตชานกรุงแบกแดด เมืองหลวงของอิรัก โดยกองทัพสหรัฐเป็นผู้ยิงโดรนติดอาวุธโจมตีรถยนต์ซึ่งกำลังแล่นอยู่บนถนนใกล้กับสนามบิน ที่มีการ “ชี้เป้า” แล้วว่า พล.ต.สุไลมานี เป็นหนึ่งในผู้โดยสาร


หลังเกิดเหตุ ทรัมป์ กล่าวว่า พล.ต.สุไลมานี “คือภัยคุกคมต่อผลประโยชน์ของอเมริกาในตะวันออกกลาง” และปฏิบัติการครั้งนี้ “มีผลพลอยได้” คือการเสียชีวิตของนายอาบู มาห์ดี อัล-มูฮันดิส รองผู้บัญชาการกองกำลังเคลื่อนไหวประชาชน หรือ “ฮัชด์” ซึ่งเป็นเครือข่ายกองกำลังนักรบชีอะห์ในอิรักที่ฝักใฝ่อิหร่าน


ขณะที่สำนักงานคณะผู้แทนถาวรอิหร่านประจำสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ส่งหนังสือถึงสมัชชาสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นจีเอ ขอให้มีการ “ดำเนินการอย่างเป็นทางการ” กับสหรัฐในเรื่องนี้ ด้วยวิธีที่รวมถึงรวมถึงการออกมติประณามรัฐบาลวอชิงตัน และการป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต.

เครดิตภาพ : REUTERS