สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ว่า สหรัฐ สหภาพยุโรป ( อียู ) สหราชอาณาจักร และนอร์เวย์ เผยแพร่แถลงการณ์ร่วมกัน เมื่อวันอังคาร เกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองภายในซูดาน ซึ่งเกิดการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา เป็นครั้งที่สองต่อจากการยึดอำนาจ เมื่อปี 2562 ว่า ชาวซูดานแสดงออกอย่างชัดเจนมาตลอด ว่าไม่ต้องการอยู่ภายใต้การปกครองแบบใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ และต้องการให้กระบวนการเปลี่ยนผ่านตามหลักประชาธิปไตยดำเนินต่อไป


เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุต่อไปว่า “การดำเนินการเพียงฝ่ายเดียว” เพื่อเฟ้นหาผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี เป็นการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันการเมืองภายในซูดานเอง และจะยิ่งขยายรอยร้าวทางสังคมของซูดานด้วย พร้อมทั้งเตือนกองทัพซูดาน “เตรียมรับผิดชอบ” กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการใช้ความรุนแรงต่อประชาชน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้ว 57 ราย นับตั้งแต่การประกาศยึดอำนาจ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.ปีที่แล้ว


ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของสหรัฐและพันธมิตร เกิดขึ้นหลังนายอับดัลลา ฮัมด็อก ซึ่งเป็นอดีตนักการทูต ประกาศเมื่อวันที่ 2 ม.ค. ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลเฉพาะกาล โดยยอมรับว่า ตลอดระยะเวลา 6 สัปดาห์ที่กลับมาอยู่ในตำแหน่งนี้อีกครั้ง เขาพยายามอย่างสุดความสามารถ เพื่อป้องกันไม่ให้ซูดาน “ต้องยืนบนปากเหวอีก” แต่ไม่ประสบความสำเร็จ และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมการเจรจา และเห็นพ้อง “กฎบัตรแห่งชาติ” เพื่อ “ความอยู่รอด” ของทุกภาคส่วนในประเทศ


ทั้งนี้ ฮัมด็อก และพล.อ.อับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของซูดาน ลงนามร่วมกันในข้อตกลง 14 ข้อ เมื่อปลายเดือน พ.ย. 2564 ที่รวมถึงการคืนตำแหน่งนายกรัฐมนตรีให้แก่ฮัมด็อก อดีตนักการทูต ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเฉพาะกาล หลังการรัฐประหารครั้งก่อน เมื่อปี 2562 ให้ทำหน้าที่นี้ต่อจนกว่าจะถึงกำหนดการเลือกตั้งทั่วไป ที่กองทัพกล่าวว่า จะเกิดขึ้นภายในเดือน ก.ค. 2566


อย่างไรก็ตาม การกลับมารับตำแหน่งของฮัมด็อกสร้างความไม่พอใจให้กับหลายฝ่าย ซึ่งมองว่าฮัมด็อก “หักหลัง” และ “เป็นการฆ่าตัวตายทางการเมือง” ด้วยการยินยอมกลับมาร่วมงานกับกองทัพที่ยึดอำนาจตัวเอง.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES