เมื่อวันที่ 5 ม.ค. ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) นายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แถลงสรุปสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 4 ม.ค. 65 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการรณรงค์ “ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัยไร้อุบัติเหตุ” ว่า เกิดอุบัติเหตุ 209 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 21 ราย ผู้บาดเจ็บ 202 คน ส่วนอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 7 วัน ของการรณรงค์ (29 ธ.ค. 64 – 4 ม.ค. 65) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,707 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 333 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,672 คน

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุดได้แก่ เชียงใหม่ 96 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 22 ราย นครราชสีมา อุดรธานี จังหวัดละ 14 ราย และจังหวัดเชียงใหม่ 12 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ กาญจนบุรี จังหวัดละ 93 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วันของการรณรงค์มี 9 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นครนายก ปัตตานี พังงา ยะลา สตูล สมุทรสงคราม สุโขทัย และแพร่

นายบุญธรรม กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 52.32 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 19.21 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 18.54 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 2,327 คัน หรือร้อยละ 84.74 รถปิกอัพ/กระบะ 166 คัน หรือร้อยละ 6.05 และรถเก๋ง 95 คัน หรือร้อยละ 3.46 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 39.54 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 35.15 ถนนในเมืองเทศบาล ร้อยละ 11.04

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 18.01-19.00 น. ร้อยละ 19.90 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี ร้อยละ 17.49 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,904 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,417 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 388,227 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 78,340 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 23,131 ราย ไม่มีใบขับขี่ 20,023 ราย

นายบุญธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อเปรียบเทียบจากสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2564 ซึ่งเกิดอุบัติเหตุรวม 3,333 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 392 ราย ผู้บาดเจ็บ รวม 3,326 คน พบว่าจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ ลดลงร้อยละ 22.99 จำนวนผู้เสียชีวิต ลดลงร้อยละ 33.00 และจำนวนผู้บาดเจ็บลดลงร้อยละ 18.65 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ศปถ. ตั้งเป้าหมายภาพรวมของประเทศในการลดอัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศให้เหลือ 12 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคนภายในปี 70 ซึ่งจากสถิติแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือประชาชนและทุกภาคส่วน โดย ศปถ. ยังคงมุ่งสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี พร้อมถอดบทเรียน ตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนน เพื่อวิเคราะห์สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนนในเชิงลึก รวมทั้งค้นหาปัญหาอุปสรรคและปัจจัยความสำเร็จในการลดอุบัติเหตุทางถนน เพื่อกำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมกับสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในแต่ละพื้นที่ต่อไป.