“ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)” หรือแบงก์ชาติ ได้เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน โดยประเมินในช่วงข้างหน้าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเปราะบางและมีความไม่แน่นอนสูง ทำให้ต้องติดตามการระบาดของโควิดโอมิครอน อาจกระทบเป็นวงกว้าง รุนแรง หรือยืดเยื้อ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของสถานการณ์และความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาด, ความเชื่อมั่นของประชาชนและธุรกิจ ท่ามกลางการระบาดหลายระลอกและปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง, ความต่อเนื่องและเพียงพอของมาตรการภาครัฐ เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่อาจยืดเยื้อกดดันธุรกิจในภาคการผลิตและการส่งออก

ทั้งนี้ กนง. เห็นว่า การเตรียมความพร้อมและประสานมาตรการภาครัฐเพื่อดูแลการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่สะดุดลงเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง เช่น ความยืดเยื้อของการระบาดและการกลายพันธุ์,ความต่อเนื่องของมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐที่จะทยอยหมดลง และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาพลังงานโลกหากราคาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันอยู่ในระดับสูงนานกว่าที่ประเมินไว้ รวมทั้งเร่งผลักดันมาตรการรวมหนี้ และมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนสูงได้อย่างตรงจุดและเป็นรูปธรรม

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 65 มีแนวโน้มขยายตัว 3.4% และในปี 66 ขยายตัว 4.7% โดยโอมิครอนเป็นความเสี่ยงสำคัญที่อาจกระทบแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด แม้ในกรณีฐานคาดว่าจะยังไม่กระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม แต่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งโอมิครอนอาจกระทบต่อการใช้จ่ายในประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและการส่งออกสินค้าในช่วงแรกของปี 65

อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพของวัคซีนในปัจจุบันช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บป่วยได้ในระดับหนึ่ง ดังนั้น จึงคาดว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการควบคุมการระบาดเฉพาะพื้นที่และปิดการลงทะเบียนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่กักตัวเพียงชั่วคราว ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 65 ได้รับผลกระทบไม่มากนัก ภาคการท่องเที่ยวจึงยังคงเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจ และช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนการระบาดได้ในช่วงต้นปี 66 แต่หากเลวร้ายกว่าคาดจะกระทบโดยตรงต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ลดลง จะทำให้การฟื้นตัวเศรษฐกิจไทยล่าช้ากว่าที่คาดไว้

คณะกรรมการฯ เห็นว่ามาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยมาตรการสาธารณสุขเพื่อควบคุมการระบาดที่เอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่องยังมีความสำคัญมาตรการการคลังควรสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างตรงจุด โดยเน้นการสร้างรายได้และเร่งเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูและยกระดับศักยภาพทางเศรษฐกิจ

ขณะที่นโยบายการเงินช่วยสนับสนุนให้ภาวะการเงินโดยรวมยังผ่อนคลายต่อเนื่อง สำหรับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและลดภาระหนี้ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งสนับสนุนการรวมหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ (debt consolidation) และปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญในปัจจุบัน

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ พัฒนาการของการกลายพันธุ์ของ COVID-19 ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ และการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

สำหรับในระยะปานกลาง คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรประเมินนโยบายการเงินที่เหมาะสมแบบบูรณาการ โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างเครื่องมือนโยบายการเงินต่าง ๆ ในการชั่งน้ำหนักระหว่างเป้าหมายด้านเสถียรภาพราคา การดูแลการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน เพื่อสอดรับกับแนวโน้มเศรษฐกิจและความเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายในปัจจุบันสะท้อนการประเมินความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังสูงกว่าความเสี่ยงด้านอื่น ๆ

อย่างไรก็ดีมองไปข้างหน้า เมื่อเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวในระดับปกติและมีความเสี่ยงลดลง การให้น้ำหนักแต่ละเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงินควรต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ โดยเฉพาะในกรณีที่ความเสี่ยงต่อแนวโน้มเงินเฟ้อหรือต่อเสถียรภาพระบบการเงินปรับสูงขึ้น ดังนั้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้น การผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงผลกระทบของนโยบายในระยะปานกลางจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ