ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยในปัจจุบัน คือ การถูกหลอกลวงที่มักออกมาสารพัดรูปแบบ และที่ช่วงนี้ระบาดกันค่อนข้างหนัก มีคนไทยถูกหลอกอยู่บ่อยครั้ง คงเห็นจะเป็นการหลอกลวงรูปแบบออนไลน์
ไม่ว่าจะหลอกให้คลิกลิงก์ที่มาในช่องทางเอสเอ็มเอสมือถือ หลอกให้ลงทุนผ่านออนไลน์ หลอกให้กู้เงินผ่านแอพพลิเคชั่นที่ไม่ได้รับอนุญาต หรือเรียกว่า แอพเงินกู้เถื่อน ซึ่งล้วนเป็นเรื่องที่อันตราย และเป็นภัยการเงินทำให้ตัวเราเสียทรัพย์ ยิ่งคนไม่รู้ ก็จะยิ่งถูกหลอกได้ง่าย
*เตือนเป็นอย่างแรก*
หนึ่งในหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเงินกู้ออนไลน์ ซึ่งเป็นเงินกู้ในระบบ คือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเรื่องนี้ “ชญาวดี ชัยอนันต์” ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. ได้ให้สัมภาษณ์กับ “เดลินิวส์” ว่า สิ่งที่ ธปท.ทำเป็นอย่างแรก ๆ เลยคือ ออกเตือน! โดยได้เตือนประชาชนในทุกช่องทาง และอย่างสม่ำเสมอ เพราะรูปแบบของมิจฉาชีพเปลี่ยนไปเยอะ ก็ต้องเตือนให้ประชาชนรับรู้และระวังตัว
โดยเฉพาะเรื่องหลอกลวงผ่านเอสเอ็มเอสมือถือ ที่ให้กดคลิกลิงก์หลอกลวงให้สูญเงิน ธปท.ได้ประสานหน่วยงานกำกับดูแลอย่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แต่ยอมรับว่าอาจไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเมื่อมีผู้แจ้งว่ามีเอสเอ็มเอสหลอกลวง ทาง กสทช.ก็พยายามตามปิดตามบล็อกแต่มิจฉาชีพก็ได้เปลี่ยนเบอร์ส่งเอสเอ็มเอสอยู่เรื่อย ๆ ทำให้หลังจากนี้ กสทช.อาจร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเรื่องนี้
ไม่เพียงเท่านี้ ช่วงเวลาที่ผ่านมา ธปท.ได้ประสานให้ข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมาโดยตลอดเพื่อเป็นประโยชน์ในการติดตามแก๊งมิจฉาชีพมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้!

*คนเข้าไม่ถึงข้อมูล*
หากจะมาดูถึงว่าทำไมประชาชนถึงยังถูกหลอกลวงอยู่ ก็อาจเป็นเพราะประชาชนบางส่วนเข้าไม่ถึงข้อมูลการแจ้งเตือน ว่ารูปแบบการหลอกลวงมีแบบไหนบ้าง วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภัย หรือจุดสังเกตมีอะไร เพราะถ้าหากประชาชนไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ อาจจะทำให้ถูกหลอกลวงได้ในที่สุด
โดย ธปท.ได้เร่งออกแจ้งเตือนในทุกช่องทาง และได้แนะนำวิธีสังเกต หรือวิธีป้องกันทำอย่างไร? ยิ่งช่วงนี้หลายคนมีความยากลำบาก จากรายได้ขาด ตกงาน ไม่มีเงิน ขาดสภาพคล่อง จึงต้องการเงินกู้ และมิจฉาชีพได้อาศัยจังหวะนี้หลอกลวงให้กู้เงิน โดยอ้างต่าง ๆ นานา ให้เหยื่อโอนเงินให้ก่อน ทำให้สิ่งที่สำคัญเลยคือ ประชาชนต้องระวัง!
*เล่นกับความกลัว-ความโลภ*
สิ่งที่น่ากลัวมากคือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มักจะเล่นกับความกลัวของประชาชน และเล่นกับความโลภของคน เช่น ใช้วิธีหลอกให้กลัวว่า ถูกอายัดบัตรเครดิต ต้องมีเงินมาจ่ายเพื่อปลดล็อก หรืออ้างว่ามีคนใช้ชื่อของท่านกระทำความผิด จึงเกิดความกลัวและจำต้องโอนเงินเป็นค่าดำเนินการ หรือจะใช้วิธีมีสินค้าส่งมาจากต่างประเทศ และต้องมีค่าบริการ ค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ซึ่งถ้าเป็นผู้สูงอายุคนไม่รู้ก็จะถูกหลอกได้ง่าย
ธปท.ได้คุยกับสมาคมธนาคารไทย คุยกับธนาคารของรัฐ ให้ธนาคารต่าง ๆ ช่วยประชาสัมพันธ์ลูกค้าของตนเอง แต่ก็ยังมีประชาชนถูกหลอก เพราะความไม่รู้!
*ถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือ*
นอกจากแอพเงินกู้หลอกลวงแล้ว ยังมีวิธีใหม่ของมิจฉาชีพที่ใช้เราเป็นเครื่องมือกระทำความผิด หลอกให้เปิดบัญชีเงินฝาก หรือเรียกว่าบัญชีม้า แล้วใช้บัญชีนั้น เป็นทางผ่านไปหลอกลวงให้คนโอนเงินเข้าบัญชีนี้ ก่อนจะโอนออกไปอีกบัญชีในทันที ทำให้ตามจับตามสืบได้ยากขึ้น
ทำให้คนที่ถูกหลอกให้เปิดบัญชี ที่เรียกว่า บัญชีม้า ประชาชนคนนั้นก็ไม่รู้ตัว ว่ากำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือของมิจฉาชีพ เพราะเมื่อถูกรับจ้างและได้เงินไปแล้วก็ไม่รู้ว่าเขาเหล่านั้นเอาบัญชีของเราไปทำอะไรอีกบ้าง โดย ธปท.คงจะต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เพิ่มขึ้น เพื่อป้องกันและให้ความรู้ประชาชนเกี่ยวกับภัยการเงินมากขึ้น

*จุดสังเกต ต้องมีสติ!*
วิธีสังเกต คือ คำแอบอ้างหน่วยงานต่าง ๆ เช่น แอบอ้าง ธปท. แอบอ้างธนาคารพาณิชย์ หรือแม้แต่กระทรวงพาณิชย์ วิธีป้องกันเลยคือ ห้ามโอนเงินไปบัญชีเงินฝากใด ๆ ก่อน หรือวิธีปลอดภัยที่สุด คือ ให้โทรฯ สอบถามตามเบอร์ของหน่วยงานนั้นจริง โดยสิ่งที่จะช่วยได้คือ คนนั้นต้อง “มีสติ อย่าโลภ สงสัยให้ถาม ติดตามข่าวสารตลอดเวลา” สิ่งเหล่านี้จะช่วยได้มาก
สิ่งแรกที่ควรรู้เลยคือ ไม่โอนค่าธรรมเนียมอะไรไปให้ก่อน เพราะถ้ามาขอเงินกู้ จะไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆก่อน อย่าโอนไปก่อน หรือหากคนร้ายต้องส่งเอกสาร หรือโอนเงินมาในเวลาเท่านี้ถึงจะได้รับเงินกู้ จุดสังเกต คือ แอบอ้างหน่วยงานภาครัฐ, ให้โอนเงินไปก่อน และเรื่องเวลา เร่งรัดให้โอนเงิน มิจฉาชีพจะเล่นกับความกลัวของคน และด้วยความไม่รู้ อะไรที่เล่นกับค่าตอบแทนสูงก็จะทำให้ถูกหลอกได้ ทำให้ที่สำคัญเลยคือ สติ!
*เช็ก ไวท์ลิสต์ ของแท้!*
ต้องดูจากแอพเงินกู้ของจริง แอพจริงถูกต้องตามกฎหมาย สามารถตรวจสอบได้ทั้งเงินกู้ของจริงธนาคาร นอนแบงก์ บนเว็บไซต์ธปท. หากหาไม่เจอให้พิมพ์ค้นหา เช็กแอพเงินกู้ธปท. ซึ่งจะขึ้นในเว็บไซต์ และมีลิงก์ กดเชื่อมไปยังผู้ให้บริการที่เป็นสถาบันการเงินจริง หรือโทร 1213 ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) หรือเฟซบุ๊ก เตือนภัยการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ถ้าให้ปลอดภัยที่สุดคือ ตรวจสอบรายชื่อผู้ให้บริการเงินกู้ออนไลน์ได้จาก “ไวท์ลิสต์” จะปลอดภัยที่สุด โดยผู้ที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.ที่เป็นเงินกู้ออนไลน์ ทั้งแอพพลิเคชั่น แพลตฟอร์มออนไลน์ และช่องทางขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ มีทั้งสิ้น 120 ราย
เรื่องเอสเอ็มเอสเงินกู้หลอกลวงให้กดลิงก์ ก็เป็นปัญหาให้กับบริษัทเงินกู้รายเล็ก ๆ เพราะคนจะไม่กล้ากด ไม่รู้ว่าของจริงหรือไม่ ขณะที่เอสเอ็มเอสของธนาคารเองจะสามารถลิงก์เข้าไปแอพเงินกู้โมบายแบงกิ้งจริง แม้จะเป็นลิงก์จริงแต่ก็เห็นว่าธนาคารมีการใช้น้อยลง ทำให้การตรวจสอบรายชื่อ ไวท์ลิสต์ จาก ธปท. เป็นสิ่งที่การันตีได้แน่นอนที่สุดว่า ของแท้แน่นอน!

*สถิติถูกหลอกแอพเงินกู้*
สถิติการร้องเรียนเรื่องหลอกลวงแอพเงินกู้ เงินกู้ออนไลน์ ตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค.64 มีทั้งสิ้น 1,443 ราย ซึ่งแอบอ้าง ธปท.มากกว่า 50% โดยจากข้อมูลสถิติ พบว่า ในระยะแรกของการร้องเรียนมีมากถึง 416 ราย หลังจากนั้น ธปท.และหน่วยงานภาครัฐ ได้ออกเตือนภัยทางการเงิน สินเชื่อออนไลน์ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกหลอกลวงโดยอาจถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวหรือสูญเสียทรัพย์สินได้
ทำให้ผลจากหน่วยงานต่างๆรวมถึง ธปท.ได้ส่งออกไป ได้ผลลัพธ์คือ ประชาชนมีความรู้เพิ่มขึ้นระดับหนึ่ง หลังจากการเตือนภัยมีแนวโน้มที่ถูกหลอกลวงประเภทแอพเงินกู้ลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ต.ค.64 เป็นต้นมา จนมาในเดือนล่าสุดตั้งแต่วันที่ 1-25 ธ.ค. 64 เหลือผู้ร้องเรียนเพียง 199 ราย

“ชญาวดี ชัยอนันต์” ยังบอกทิ้งท้ายไว้ว่า ธปท.จะเร่งออกเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่องให้ระมัดระวังและอย่าหลงเชื่อการให้โอนเงินใดๆ และตรวจสอบว่าสถาบันการเงินที่ไปกู้ หรือแอพเงินกู้ออนไลน์นั้น เป็นสถาบันการเงินที่อยู่ในการกำกับดูแลของ ธปท.หรือไม่ รวมถึงตรวจสอบรายชื่อผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลังด้วย
“อยากจะฝากคำเดียว คือ เอะ! ไว้ก่อน ไม่ว่าจะอย่างไรให้ เอะ! เอะใจว่าใช่หรือไม่ จริงหรือเปล่า แล้วจะปลอดภัยไม่ตกเป็นเหยื่อของแก๊งหลอกลวง”