นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ที่มี นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ว่า ที่ประชุมเห็นชอบแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลักของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ระยะที่ 2 ในช่วง 5 ปี คือปี 2565-69 ซึ่งจะใช้วงเงินลงทุนรวม 3.4 แสนล้านบาท โดยเน้นการลงทุนในด้านระบบรางเป็นหลัก เช่นเดียวกับด้านการขนส่งสาธารณะ รวมถึงการลงทุนในด้านเทคโนโลยี และระบบอัจฉริยะ ภายในพื้นที่อีอีซีด้วย
“ที่ผ่านมาได้มีการทำแผนการลงทุนในโครงสร้างพื้นในระยะแรกเอาไว้แล้ว โดยใช้เงินสูงหน่อย คือประมาณ 9 แสนล้านบาท ตอนนี้ได้มีผลสรุปออกมาแล้วว่าได้ดำเนินการไปแล้ว 60% มีหลายโครงการที่ไม่ทันสมัยก็เลิกทำ ส่วนการทำโครงสร้างพื้นฐานในระยะที่ 2 เป็นเงินที่น้อยลง ประมาณ 3.4 แสนล้านบาท เพราะที่ผ่านมาได้ทำโครงสร้างพื้นฐานในระยะแรกไปบ้างแล้ว ซึ่งเงินลงทุนส่วนนี้จะเป็นเงินการลงทุนในรูปแบบของการลงทุนภาครัฐร่วมกับเอกชน หรือพีพีพี”
ทั้งนี้ได้รายงานให้ที่ประชุมรับทราบแนวทางการดำเนินงานในปี 2565 ของอีอีซี โดยจะเร่งสร้างเศรษฐกิจไทยให้เข้มแข็ง ขับเคลื่อนแผนลงทุนระยะที่ 2 ในพื้นที่อีอีซี ตั้งเป้าเกิดการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท จากการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมทั้งดึงดูดการลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ต่อยอดจากฐานปกติ และเศรษฐกิจสีเขียว (บีซีจี) ปีละ 4 แสนล้านบาท เพื่อให้เกิดการลงทุนนวัตกรรมใหม่เคียงคู่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้จีดีพีขยายตัว 5% ต่อปี มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการของไทยมีมูลค่าสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ จะเกิดการพลิกโฉมการศึกษาพัฒนาทักษะบุคลากรโดยเฉพาะด้านดิจิทัล ที่จะสร้างตำแหน่งงานใหม่ รายได้มั่นคง
อย่างไรก็ตามประเมินว่าปี 2572 อีอีซี ได้ตั้งเป้าหมายสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงจากฐานราก ให้ประเทศไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางก้าวสู่ประเทศพัฒนา รวมทั้งยกระดับคุณภาพชุมชนในมิติต่าง ๆ ต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างรายได้ที่มั่นคง สร้างชุมชนที่มั่งคั่ง ให้กับคนไทยทั้งในปัจจุบันและอนาคต พร้อมทั้งเป็นองค์กรต้นแบบการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษทั่วประเทศในอนาคต
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2563-2564 ซึ่งได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2564 หลังเจอกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งทำให้จีดีพีของประเทศ หายไป 2.2 ล้านล้านบาท เช่นเดียวกับจีดีพีในพื้นที่อีอีซีที่หายไป 1.7 แสนล้านบาทเช่นกัน ส่วนในปี 65 ประเมินว่า จีดีพีจะขยายตัว 4% และจีดีพีในอีอีซีขยายตัว 5% โดยภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ จะกลับมาเป็นบวกได้ โดยเฉพาะภาคบริการที่ติดลบมาก่อนหน้านี้