เจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านลิขสิทธิ์ของจีนกล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า แพลตฟอร์มให้บริการด้านไฟล์เพลงดิจิทัลจากหลายบริษัทไม่ได้รับอนุญาตให้เซ็นสัญญาผูกขาดด้านลิขสิทธิ์ ยกเว้นในกรณีพิเศษ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทางการกำลังไล่ปราบปรามพฤติกรรมผูกขาดตลาดในภาคธุรกิจเอกชน

สำนักงานดูแลลิขสิทธิ์แห่งชาติของจีน (The National Copyright Administration of China : NCAC) ได้ออกคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 6 ธ.ค. ในการประชุมที่กรุงปักกิ่งร่วมกับกลุ่มแพลตฟอร์มให้บริการไฟล์เพลงดิจิทัลรายใหญ่, บริษัทที่ถือลิขสิทธิ์เพลงและไฟล์เพลงที่บันทึกเสียงแล้ว 

คำสั่งนี้ประกาศออกมาในระหว่างที่ทางการของจีนกำลังไล่ปราบปรามการผูกขาดในตลาดด้านเทคโนโลยี รวมถึงการแข่งขันที่ไม่เสมอภาคและปัญหาการละเมิดสิทธิ์ของผู้บริโภค

เมื่อปีก่อน บริษัท Tencent Holdings ประกาศว่า บริษัทจะยุติการผูกขาดลิขสิทธิ์เพลง หลังจากที่ได้รับคำสั่งจากสำนักกำกับดูแลตลาดของจีนให้ยกเลิกสัญญาดังกล่าว โดยทางผู้ดูแลกล่าวว่าบริษัทครอบครอบสิทธิผูกขาดของไฟล์เพลงจากแหล่งต่าง ๆ มากกว่า 80% ในตลาด ซึ่งทำให้บริษัทได้เปรียบและสามารถกีดกันคู่แข่งรายใหม่ที่ต้องการเข้าร่วมในตลาดได้ง่าย

NCAC ไม่ได้ระบุว่ามีบริษัทใดบ้างที่เข้าร่วมการประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี 

นอกจากบริษัท Tencent แล้ว บริษัทผู้ผลิตสมาร์ทโฟนอย่าง Xiaomi, บริษัทให้บริการโทรคมนาคม China Moblie และบริษัทเทคโนโลนีอินเทอร์เน็ตยักษ์ใหญ่อย่าง Netease ล้วนเป็นเจ้าของบริการสตรีมมิ่งยอดนิยมในจีน ขณะที่แพลตฟอร์มสตรีมมิ่งเพลงยอดนิยมระดับโลกอย่าง Spotify โดนแบนในประเทศจีน

NCAC กล่าวว่า แม้การบังคับใช้กฎหมายด้านลิขสิทธิ์จะได้ผลดีขึ้นตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่เจ้าหน้าที่สั่งห้ามการสตรีมมิ่งเพลงที่ไม่มีลิขสิทธิ์และสั่งให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ลบเพลงออกไปนับล้านเพลง วงการสตรีมมิ่งเพลงก็ยังคงต้องมีการจัดระเบียบกันต่อไป

NCAC ยังแถลงอีกว่า “ในการพูดคุยได้เน้นว่าบริษัทเพลง, บริษัทที่ถือครองลิขสิทธิ์เพลงที่แต่งขึ้นและแพลตฟอร์มให้บริการเพลงออนไลน์ควรจะตั้งค่าบริการโดยคิดในลักษณะของค่าบริการคงที่จำนวนหนึ่ง บวกด้วยค่าบริการจากการใช้งานจริง และไม่ควรเซ็นสัญญาผูกขาดลิขสิทธิ์ ยกเว้นในกรณีพิเศษ” 

เครดิตภาพ : Reuters