เมื่อวันที่ 8 ม.ค. นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุข้อความว่า “ผมเห็นข่าวการเกิดวิวาทะ ระหว่างคนรอบข้างนายกรัฐมนตรีกับทีมงานของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ุ กรณีที่พรรคไทยสร้างไทย ได้ออกนโยบายให้บำนาญประชาชน เดือนละ 3,000 บาท จนทำให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตรวจสอบว่า ขัดต่อกฎหมายการหาเสียงหรือไม่

ส่วนตัวเห็นว่า นโยบายของพรรคการเมืองนั้น จะนำเสนอนโยบายในการหาเสียงในเรื่องใดนั้น จะต้องรับผิดชอบในนโยบายนั้นๆ เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาลแล้ว ก็ต้องทำตามที่โฆษณาหาเสียงไว้ สำหรับนโยบายของพรรคไทยสร้างไทยนั้น ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถทำได้หรือไม่ เพราะยังไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่นโยบายของพรรคพลังประชารัฐ ที่ใช้หาเสียงในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อปี 2562 ถือว่าเป็นสัญญาประชาคม เมื่อเป็นรัฐบาลแล้ว ได้นำนโยบายไปปฏิบัติตามที่ได้โฆษณาหาเสียงไว้ สามารถได้จริงหรือไม่ เช่น

นโยบายเพิ่มค่าจ้างและค่าแรง–ค่าแรงขั้นต่ำ 400-425 บาท/วัน– จบอาชีวะ เงินเดือนเริ่มต้น 18,000 บาท–จบปริญญาตรี เงินเดือนเริ่มต้น 20,000 บาท

นโยบายดูแลราคาสินค้าเกษตร พรรคพลังประชารัฐได้เคยประกาศไว้ในหลายโอกาส ว่า หากได้เป็นรัฐบาล จะดูแลราคาสินค้าเกษตร ไม่ให้มีราคาต่ำกว่านี้ เช่น– ข้าวหอมมะลิ 18,000 บาท/ตัน– ข้าวเจ้า 12,000 บาท/ตัน–อ้อย 1,000 บาท/ตัน–ยางพารา 65 บาท/กก.–ปาล์ม 5 บาท/กก.–มันสำปะหลัง 3 บาท/กก.

นโยบาย “มารดาประชารัฐ” ซึ่งเป็นนโยบายสวัสดิการของพรรค ที่ตั้งใจมอบให้กับแม่และเด็ก–ตั้งครรภ์รับ 3,000 บาท/เดือน โดยสามารถรับได้สูงสุดไม่เกิน 9 เดือน รวมไม่เกิน 27,000 บาท–ค่าคลอดบุตร 10,000 บาท–ค่าดูแลเด็ก 2,000 บาท/เดือน โดยจะได้รับจนเด็กอายุ 6 ขวบ รวมแล้วเป็นเงิน 144,000 บาท/คน

นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่ประกาศออกมาอีก เช่น

-เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 5,000 บาท/เดือน

-ยกเว้นภาษีแม่ค้าออนไลน์ 2 ปี

-ลดภาษีบุคคลธรรมดา 10%

-พักหนี้กองทุนหมู่บ้าน 4 ปี

-ตั้งกองทุนพลังประชารัฐ หมู่บ้านละ 2 ล้านบาท

นายเทพไท ระบุด้วยว่า ผมอยากให้ กกต.และสังคม ได้ตรวจสอบพรรคพลังประชารัฐ ว่าการที่ได้เสนอชื่อ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จนเป็นพรรคแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้นำนโยบายที่หาเสียงไปสู่การปฏิบัติได้จริงหรือไม่ หรือเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อ หลอกลวงประชาชน เพื่อหวังผลคะแนนเสียงเท่านั้น เสร็จการเลือกตั้งแล้วมาเป็นรัฐบาล ก็ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะเป็นเพียงพรรคร่วมรัฐบาล แต่ก็ได้ผลักดันนโยบายประกันรายได้เกษตรกร ที่ใช้ในการหาเสียง มาเป็นนโยบายของรัฐบาลจนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นการทำตามนโยบายที่ใช้หาเสียง และคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนแล้ว