เริ่มต้นปีกันแบบลุ้นระทึกเลยก็ว่าได้ สำหรับสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ “โอมิครอน” ที่แพร่กระจายลุกลามไปอย่างรวดเร็ว กินพื้นที่ไปแล้วมากกว่า 55 จังหวัด ขณะที่ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เริ่มไต่ระดับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

ล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าขณะนี้ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่การแพร่ระบาดใหญ่ระลอกที่ 5 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการประกาศเพิ่มระดับเตือนภัยโควิด-19 จากเดิมระดับ 3 ปรับขึ้นเป็นระดับ 4 ทั้งหมดทั้งมวลเริ่มบ่งชี้ให้เห็นได้ชัดแล้วว่า “โอมิครอน” ไม่ใช่เรื่องกระจอก!

แต่ท่ามกลางเรื่องร้าย ก็ยังพอมีเรื่องดี เพราะจากข้อมูลเท่าที่มีในขณะนี้บ่งชี้ให้เชื่อได้ว่า “โอมิครอน” เป็นเชื้อที่อ่อนกว่า “เดลตา” ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะกลายเป็น “การสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ” สำหรับคนที่ติดเชื้อไปแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะผู้ที่ติดเชื้อไปแล้ว ยังมีเรื่องให้กังวล โดยเฉพาะ Long COVID ที่เป็นผลกระทบที่โควิด-19 ส่งผลกับร่างกาย ซึ่งกลายเป็นปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้

ดังนั้นทางเลือกที่ดีที่สุดของคนไทยในเวลานี้คือการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และมาตรการทางสาธารณสุขอื่นๆ อย่างเคร่งครัด เพราะในระยะต่อไปอันใกล้นี้ เราจะต้องเตรียมตัวเตรียมใจรับมือ ก็คือตัวเลขของผู้ติดเชื้อที่จะมีจำนวนพุ่งสูงขึ้นจนแตะหลักหมื่นอีกครั้ง ดังนั้นการป้องกันตัวเองจากเชื้อโควิดทุกสายพันธุ์ จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในเวลานี้

อย่างไรก็ตามแม้การแพร่ระบาดของ “โอมิครอน” จะมีแนวโน้มเป็นเชื้อที่อ่อนลงในแง่ของอาการป่วยรุนแรง และการเสียชีวิต แต่สิ่งที่ตามมาคือ “ไวรัสเศรษฐกิจ” ที่น่ากลัวไม่แพ้กัน เพราะผลจากการแพร่ระบาดใหญ่หลายระลอกติดต่อกัน ส่งผลให้เชื้อไวรัสเศรษฐกิจ แทรกซึมทะลุทะลวงสร้างความเดือดร้อนให้กับคนไทยทั่วทุกหย่อมหญ้า ขณะที่การแก้ปัญหาของรัฐบาลในปีที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนแล้วว่า การจ่ายเงินเยียวยาเพียงอย่างเดียวไม่พอที่จะรองรับปัญหาเศรษฐกิจที่เป็นผลพวงจากโควิดได้เลย

ดังนั้นเมื่อเราจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับโควิดกันอีกระยะหนึ่ง นอกจากการปรับรูปแบบการใช้ชีวิตให้เป็นแบบ “new normal” เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดแล้ว รัฐบาลอาจจะต้องทำการบ้านในเรื่องการช่วยประชาชนปรับรูปแบบการทำมาหากิน-หาเลี้ยงครอบครัวท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด ให้เป็นแบบ “new normal” เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจคู่ขนานกันไปด้วย ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถอยู่กับโควิดพร้อมกับยังทำมาหากินได้ และเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ประชาชนอยากได้…มากกว่าการรอรับเงินเยียวยาอย่างจำกัดจำเขี่ย

บทเรียนจากการแพร่ระบากหลายระลอกสอนเราให้รู้ว่า การที่รัฐบาลสั่งหยุดกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายๆอย่าง นอกจากจะไม่ช่วยทำให้ควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดได้แล้ว ยังกลายเป็นการซ้ำเติมประชาชนให้ทุกข์แสนสาหัสมากเกินความจำเป็น!

และจากปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นนอกจากจะส่งผลกระทบในด้านเศรษฐกิจแล้ว ยังกระทบชิ่งสั่นสะเทือนด้านการเมืองอีกด้วย โดยที่เห็นได้ชัดที่สุดคือปรากฏการณ์ “ผีทักษิณหลอน” จากการที่ ทักษิณ ชินวัตร ออกมาเรียกเรตติ้งสร้างกระแส ด้วยการประกาศกลับบ้านปี 65 และพร้อมเสนอตัวช่วยงานคนไทย ทั้งนี้ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองแบบ “ลูกผีลูกคน” ผสมกับข่าวลือที่ปะทุขึ้นในวงแคบๆ อาจจะมีความเป็นไปได้ที่ “กลุ่มกบฏในพรรคพลังประชารัฐ” วางแผนที่จะจับมือกับ “พรรคเพื่อไทย” เพื่อผนึกกำลัง ออกแรงโค่นบัลลังก์ “พี่น้อง 3 ป.” กันอีกครั้งหนึ่งก็เป็นได้

เพราะดูจากสภาพ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ยังแก้ปัญหาการเป็น “นายกฯขาลอย” ไม่ได้ จนกลายเป็นอาการ “ขาลอยข้ามปี” สังเกตได้จากปรากฏการณ์สภาล่ม ที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นได้ชัดว่าวิปรัฐบาลคุมเสียง ส.ส.ในสภาไม่อยู่

ด้วยบริบทการเมืองในปัจจุบันคาดการณ์ได้ว่า ปัญหา “ไวรัสเศรษฐกิจ” และอาการ “ขาลอย” อาจจะส่งผลกระทบต่อสถานภาพของ “บิ๊กตู่” และองคาพยพ หนักหน่วงและรุนแรงมากกว่าครั้งไหนๆ และถึงตอนนั้นหากมีอุบัติเหตุจนต้องลงจากหลังเสือ คงต้องเจ็บตัวไม่น้อย! และหากที่ “บิ๊กตู่” หวังใจว่าจะใช้การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ปี 2565 เป็น “ตัวประกัน” ในการยื้ออายุรัฐบาลให้อยู่ครบเทอมแบบชิลชิล นั้น บางทีอาจจะสายเกินแก้

นอกจากนั้นยังมี “ไทม์ไลน์ร้อน” ของการเมืองในสภา ที่ไล่มากตั้งแต่ช่วงต้นปี ที่สภาจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ในวาระที่หนึ่ง คือ กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และ กฎหมายพรรคการเมือง แม้เรื่องนี้โอกาสที่สภาจะคว่ำกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับนั้น เป็นไปได้น้อยมาก เพราะการจะหาสูตรที่จะใช้เป็นกติกาการเลือกตั้ง แทนการเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบจะกลายเป็นเรื่องวุ่นวายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ยังเป็นผลดีต่อพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่นักการเมืองส่วนใหญ่จะไม่ผลักดันกฎหมายทั้ง 2 ฉบับผ่านสภา แต่ปัญหาร้อนๆอาจจะมาจากการคุมเสียง ส.ส.ไม่อยู่ของวิปรัฐบาลมากกว่า

และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ก็จะเริ่มเห็นการ “อุ่นเครื่อง” ซักฟอกรัฐบาล ซึ่งพรรคฝ่ายค้านภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย เตรียมที่จะยื่นญัตติอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 ที่จะเป็นเหมือนการตีเหล็กให้ร้อน สุมไฟการเมืองให้คุกรุ่นเพื่อส่งต่อไปยังเกมอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่จะเกิดขึ้นหลังเดือน พ.ค.เป็นต้นไป

ซึ่งจุดนี้เองอาจจะเป็น “ช่องโหว่” ที่ “กลุ่มกบฏในพรรคพลังประชารัฐ” จะฉวยจังหวะก่อตัว เพื่อเดินเกมโค่นเก้าอี้ “บิ๊กตู่” อีกรอบหรือไม่ เพราะดูสถานการณ์ในพรรคพลังประชารัฐ ยังคงเห็นได้ชัดถึง “สนิมเนื้อใน” ที่ยังคงกัดกร่อนกินลึก มีการปะลองกำลังกันให้เห็นเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของกลุ่ม “ธรรมนัส-นฤมล” ที่ยังคงเดินสายลงพื้นที่แบบไม่หวั่นอำนาจของคนในตึกไทยคู่ฟ้า ส่วน “พี่ใหญ่” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ กลับยังคงนั่งบนภูดู “น้องเลิฟ-น้องรัก” ฟัดกันอยู่ข้างล่าง

นอกจากนั้นในช่วง เดือน ส.ค. ยังมีเรื่องร้อนเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ “บิ๊กตู่” ซึ่งเรื่องนี้พรรคฝ่ายค้านก็ได้เตรียมเข้าชื่อยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ในเรื่องดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นก็แทบจะเรียกได้ว่า การเมืองในสภาปี 2565 อาจจะร้อนแรงตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปีเลยก็ว่าได้

อีกเรื่องร้อนทางการเมืองที่น่าสนใจก็คือสนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ที่กำลังจะลั่นระฆังขึ้นเร็ววันนี้ ไล่ตั้งแต่ สนามเลือกตั้งซ่อม ส.ส. ชุมพร เขต 1 และสงขลา เขต 6 แทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 16 ม.ค.นี้ แต่นอกจากความร้อนแรงการขับเคี่ยวกันของผู้สมัครแล้ว ยังอาจจะกลายเป็นปมปัญหาที่ทำให้เกิดความแคลงใจระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลได้ เพราะทั้ง 2 สนาม พรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์ มีการส่งผู้สมัครชนกัน นอกจากนั้นที่ผ่านมาพรรคประชาธิปัตย์ ก็เคยออกมาร้องแรกแหกกระเชอ ว่ามีทหารลงไปในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัด ดังนั้นงานนี้อาจทำให้ความสัมพันธ์พรรคร่วมรัฐบาลร้าวลึกไปมากกว่าที่เป็นอยู่

และอีกสนามที่ร้อนแรงไม่แพ้กัน คือเลือกตั้งซ่อม เขต 9 กทม. ที่จะมีการเลือกตั้งในวันที่ 30 ม.ค.นี้ โดยเป็นเหมือนภาพสะท้อนการวัดกำลังสนามซ้อมของพรรคการเมืองใหญ่ และพรรคการเมืองใหม่ ที่ต่างก็ส่งผู้สมัครลงชิงเก้าอี้ ส.ส.ที่ว่างอยู่นี้กันอย่างดุเด็ดเผ็ดมัน ซึ่งสนามเลือกตั้งซ่อมทั้งหมดนอกจากจะเป็นการวัดคะแนนนิยมของแต่ละพรรค ยังจะเป็นตัวสะท้อนศรัทธาของรัฐบาล ว่าโครงการประชานิยมที่รัฐบาลหว่านเม็ดเงินลงไปนั้น ยังขลังอยู่หรือไม่

สุดท้ายคงต้องฝากการบ้านให้ “บิ๊กตู่” เร่งแก้ปัญหาให้เห็นเป็นรูปธรรมในปี 2565 นี้ ก่อนที่จะ “ชำรุดยุทธ์โทรม” ลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เพราะจะพาลทำให้ประเทศไทยทรุดโทรมลงไปด้วย…นะจ๊ะ