กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที หลังจากกระทรวงพลังงาน ประกาศสิ้นสุดมาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ไว้ที่  318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม (กก.) ในวันที่ 31 ม.ค.นี้ ซึ่งเป็นก๊าซที่ภาคครัวเรือนแทบทุกบ้านจะต้องใช้ในการ ประกอบอาหาร ทำกับข้าว ส่งผลให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่ กังวลกับราคาก๊าซแอลพีจีที่จะปรับขึ้น เพราะเท่ากับว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

ประกอบกับสถานการณ์ปัจจุบันราคาเนื้อหมู ก็แพงขึ้น จนทำให้ร้านอาหารต่างๆ ทยอยปรับขึ้นราคาเป็นจำนวนมาก หากราคาก๊าซแอลพีจี ปรับขึ้นมาซ้ำเติมอีก จึงทำให้ประชาชนกังวลว่า ราคาสินค้า โดยเฉพาะอาหารต่างๆ จะถีบตัวสูงขึ้นไปอีก ขณะที่เศรษฐกิจภาพรวมก็ยังไม่ดี หลังจากโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน กลับมาระบาดอย่างรวดเร็ว จนถูกยกให้เป็นการระบาดระลอก 5 แล้ว และมาตรการคนละครึ่ง ที่ช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน ก็เพิ่งสิ้นสุดไปในวันที่ 31 ธ.ค. 64 กว่ารัฐบาลจะกลับมาอีกครั้งในช่วงเดือน มี.ค. 65 ยิ่งทำให้ประชาชนกังวลต่อค่าครองชีพมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้หากเทียบราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจี ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านข้อมูลล่าสุดที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ได้รวบรวมข้อมูลมาจากบมจ.ปตท. ในช่วงวันที่ 30 พ.ย. 64 พบว่า ราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีของไทยอยู่ในระดับต่ำกว่าเกือบทุกประเทศ โดยประเทศไทย ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 18.87 บาท, สปป.ลาว ราคากิโลกรัมละ 36.40 บาท, เมียนมา ราคากิโลกรัมละ 47.33 บาท, กัมพูชา ราคากิโลกรัมละ 37.26 บาท, เวียดนาม ราคากิโลกรัมละ 56.56 บาท, ฟิลิปปินส์ ราคากิโลกรัมละ 52.40 บาท ยกเว้นมาเลเซีย ราคากิโลกรัมละ 15.44 บาท

สำหรับราคาพลังงานที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ เป็นผลจากมาตรการภาษี และระบบการเก็บเงินเข้ากองทุนหรือการอุดหนุนราคาพลังงานที่แตกต่างกัน ซึ่งหลายประเทศเพื่อนบ้านยังมีการอุดหนุนราคาอยู่ และจากกรณีที่ก๊าซแอลพีจีไทย ถูกควบคุมราคา ทำให้ต่ำกว่าเพื่อนบ้านหลายประเทศ ส่งผลให้ที่ผ่านมามีการลับลอบส่งออกก๊าซแอลพีจีไทยไปยังเพื่อนบ้าน เท่ากับว่า รัฐต้องนำเงินกองทุนฯ ของคนไทย ไปชดเชยให้ประเทศเพื่อนบ้านด้วย จึงทำให้ต้องเข้มงวดในการป้องกันลักลอบการส่งออกอย่างมาก  

อย่างไรก็ตามต้องจับตาการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน ประชุมในวันที่ 11 ม.ค. จะมีมติการดูแลราคาก๊าซแอลพีจีต่อไปอย่างไร จากปัจจุบันต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าไปอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้มตั้งแต่เดือนเม.ย. 63 ส่งผลให้สถานะเงินกองทุนฯ ในส่วนของบัญชีแอลพีจีติดลบสูงถึง 23,178 ล้านบาท แต่หากรวมกับเงินจากบัญชีน้ำมันที่มี 17,233 ล้านบาท สถานะกองทุนสุทธิติดลบแล้ว 5,945 ล้านบาท