เมื่vวันที่ 10 ม.ค. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถนนรัชดาภิเษก น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ พร้อมด้วย นายปิยรัฐ จงเทพ หรือ โต้โต้ เข้ายื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอให้ยุติไม่อุทธรณ์คดี หลังศาลแขวงดุสิตพิพากษายกฟ้อง ในคดีฝ่าฝืนคำสั่งประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 ประกอบมาตรา 11 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ.2548 รวมทั้งประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ต.ค. 63 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมหรือมั่วสุมข้อ 1 (ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรง) เนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 63 บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือลาออกให้นายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีตัวแทนของสำนักงานอัยการสูงสุด มารับหนังสือ เพื่อยื่นต่ออัยการสูงสุดต่อไป

น.ส.ภัสราวลี เปิดเผยว่า ที่มายื่นหนังสือในวันนี้ เนื่องจากศาลแขวงดุสิตได้มีคำพิพากษาว่ายกฟ้อง โดยศาลเห็นว่าการชุมนุมในวันนั้นเป็นการได้รับความคุ้มครองในการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นอยากให้อัยการยุติคดีนี้โดยการไม่อุทธรณ์ในคดีอื่นของคนที่ยังไม่มีคำพิพากษา หรือสิ้นสุดการพิจารณาคดีก็อยากให้ถอนฟ้อง และคนที่อัยการยังไม่สั่งฟ้องก็ขอให้อัยการไม่สั่งฟ้อง เนื่องจากการเพิ่มคดี ถือเป็นการเพิ่มความยากลำบากให้กับประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเพิ่มความยากลำบากให้ระบบยุติธรรมด้วย วันนี้ตนจึงได้มายื่นหนังสือนี้ให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังกล่าว

น.ส.ภัสราวลี เปิดเผยต่อว่า ในส่วนของการรับหนังสือในวันนี้จะมีการส่งต่อให้อธิบดีอัยการศาลสูงเป็นคนพิจารณาต่อไป ทางเรายืนยันอย่างหนักแน่นให้อัยการคืนความเป็นธรรมให้กับประชาชน โดยการไม่ยื่นอุทธรณ์ ถ้าหากคดีนี้ยังดำเนินต่อไปก็จะเป็นการตอกย้ำความอยุติธรรมในสังคม เพราะฉะนั้นประชาชนอย่างเรามีสิทธิเสรีภาพในการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ออกมาเรียกร้องสิ่งที่จะดีกว่านี้ในสังคมไทย เพราะฉะนั้นกระบวนการยุติธรรมก็ไม่ควรพรากความยุติธรรมไปกับประชาชน จึงอยากให้อัยการเป็นหน่วยงานที่คืนความเป็นธรรมให้กับประชาชน

“หลังจากนี้ตนหวังว่าทางอัยการจะรับพิจารณาตามข้อเรียกร้องนี้ และจะคำนึงถึงความเป็นธรรมที่ควรจะต้องเกิดขึ้นและรวมถึงคดีอื่นๆ ด้วย ที่เป็นการชุมนุมใช้สิทธิเสรีภาพทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย เพราะว่าถ้าหากเราพูดว่าประเทศเป็นประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นประชาชนจะต้องสามารถออกมาพูดได้และออกมาแสดงความคิดเห็นได้ ไม่ควรจะถูกสกัดกั้นด้วยการถูกดำเนินคดีความ เพราะฉะนั้นอัยการจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะยุติวงจรนี้ และให้กระบวนการยุติธรรมอยู่กับประชาชนเป็นหลัก” น.ส.ภัสราวลี ระบุ