วานนี้ (10 ม.ค. 65) ทีมศัลยแพทย์จากศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมริแลนด์ สหรัฐอเมริกา แจ้งผลการผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจใหม่ให้ผู้ป่วยโรคหัวใจในระยะสุดท้ายว่าประสบความสำเร็จด้วยดี โดยหัวใจที่เปลี่ยนใหม่นั้นเป็นหัวใจของหมูที่ผ่านการดัดแปลงทางพันธุกรรม นับเป็นการผ่าตัดประเภทนี้เป็นครั้งแรกของโลก และคนไข้ฟื้นตัวได้ดีหลังจากการผ่าตัดผ่านพ้นไปแล้ว 3 วัน

ทีมศัลยแพทย์จากมหาวิทยาลัยแพทย์แมริแลนด์ เป็นทีมแพทย์ทีมแรกที่แสดงให้เห็นว่าการปลูกถ่ายอวัยวะจากหมูสู่มนุษย์นั้นมีความเป็นไปได้ โดยอาศัยวิธีการตัดต่อพันธุกรรมแบบใหม่มาช่วย ทำให้เกิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในวงการแพทย์

ถ้าการผ่าตัดครั้งนี้ประสบความสำเร็จและคนไข้มีอาการดีขึ้นในระยะยาว ทีมแพทย์ก็หวังว่าอวัยวะจากหมูจะช่วยแก้ปัญหารการขาดแคลนผู้บริจาคอวัยวะแก่คนไข้ที่มีความจำเป็น

“นี่คือการผ่าตัดครั้งสำคัญและทำให้เราก้าวเข้าไปใกล้อีกก้าวหนึ่งในการแก้ปัญหาวิกฤติการขาดแคลนอวัยวะบริจาค เราไม่มีผู้บริจาคอวัยวะหัวใจที่เพียงพอต่อความต้องการของผู้รอรับซึ่งมีรายชื่อยาวเหยียด” ดร.บาร์ทลีย์ กริฟฟิธ ซึ่งเป็นนายแพทย์ที่นำทีมผ่าตัดปลูกถ่ายหัวใจหมูให้คนไข่ กล่าวในแถลงการณ์

“เราดำเนินการอย่างระมัดระวัง แต่เราก็ยังคงมองในแง่ดีว่าการผ่าตัดที่นับเป็นครั้งแรกของโลกครั้งนี้จะสร้างตัวเลือกใหม่ที่สำคัญแก่บรรดาคนไข้ในอนาคต” กริฟฟิธ กล่าวเสริม

สำหรับเดวิด เบนเน็ตต์ คนไข้วัย 57 ปี จากแมริแลนด์ การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจครั้งนี้คือทางเลือกสุดท้ายของเขา

“ถ้าไม่ผ่าก็ตาย ผมยังอยากมีชีวิตอยู่ ผมรู้ว่ามันคือการลองเสี่ยงท่ามกลางความไม่รู้ แต่มันคือตัวเลือกสุดท้ายที่ผมมี” เบนเน็ตต์กล่าวในวันก่อนหน้าการผ่าตัด ซึ่งระบุไว้ในแถลงการณ์ของมหาวิทยาลัยแพทย์

เดวิด เบนเน็ตต์ คนไข้ที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจโดยใช้หัวใจหมูที่ผ่านการดัดแปลงทางพันธุกรรม ถ่ายภาพร่วมกับศัลยแพทย์บาร์ธลีย์ กริฟฟิธ หัวหน้าทีมผ่าตัดในศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยแมรี่แลนด์

ทางมหาวิทยาลัยได้ขออนุญาตจากองค์การอาหารและยาสหรัฐเพื่อทำการทดลองผ่าตัดครั้งนี้ในช่วงก่อนวันขึ้นปีใหม่ 

“ทางองค์การได้ใช้ข้อมูลของเราและข้อมูลของหมูทดลองเพื่อตัดสินใจอนุญาตการผ่าตัดสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจในระยะสุดท้ายซึ่งไม่มีหนทางอื่นในการรักษาแล้ว” ดร.มูฮัมหมัด โมฮิอุดดิน อธิบาย เขาเป็นหัวหน้าโครงการปลูกถ่ายอวัยวะระหว่างสายพันธุ์สิ่งมีชีวิต หรือการใช้อวัยวะของสัตว์มาเปลี่ยนให้คน

ตามข้อมูลขององค์กรบริจาคอวัยวะของการทางสหรัฐ ปัจจุบัน มีชาวอเมริกันราว 110,000 คน ที่กำลังรอคอยการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ และคนไข้มากกว่า 6,000 คน ต้องเสียชีวิตในแต่ละปีก่อนที่จะได้รับบริจาคอวัยวะ

หัวใจหมูที่ผ่านการดัดแปลงทางพันธุกรรมซึ่งนำมาเปลี่ยนให้เบนเน็ตต์นั้น เป็นผลงานของบริษัท Revivicor ซึ่งเป็นบริษัททางการแพทย์ด้านศาสตร์การฟื้นฟูชีพในรัฐเวอร์จิเนีย 

เช้าวันที่จะทำการผ่าตัด ทีมงานของทางบริษัทได้ผ่าเอาหัวใจหมูออกมาและเก็บไว้ในอุปกรณ์พิเศษเพื่อเก็บรักษาอวัยวะให้อยู่ในสภาพใช้งานได้จนกระทั่งถึงเวลาผ่าตัด

หมูคือสัตว์ที่นักวิจัยให้ความสนใจมานานว่ามีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งผลิตอวัยวะเพื่อการปลูกถ่ายในมนุษย์ได้ เนื่องจากอวัยวะของหมูนั้นมีความคล้ายคลึงกับอวัยวะของคน ยกตัวอย่างเช่น ขนาดของหัวใจหมูที่โตเต็มที่จะมีขนาดใกล้เคียงกับหัวใจของคน

อวัยวะอื่น ๆ ที่กำลังมีการวิจัยว่าจะสามารถนำมาใช้ทดแทนในร่างกายคนได้หรือไม่ก็คือ ไต, ตับและปอด

ความพยายามปลูกถ่ายอวัยวะหมูเข้าไปในร่างกายคนก่อนหน้านี้ไม่ประสบความสำเร็จเรื่องจากความแตกต่างทางพันธุกรรมทำให้ร่างกายคนไข้ปฏิเสธอวัยวะ หรือมีไวรัสซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ทางทีมนักวิทยาศาตร์ก็ได้พยายามแก้ปัญหาโดยการตัดต่อพันธุกรรมที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายคนออกไป

สำหรับหัวใจที่นำมาปลูกถ่ายให้เบนเน็ตต์นั้น มีการตัดต่อหน่วยพันธุกรรมออกไป 3 จุดซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกิดการปฏิเสธอวัยวะ และใส่หน่วยพันธุกรรมของมนุษย์ที่จะทำให้ภูมิคุ้มกันในร่างกายคนยอมรับอวัยวะใหม่เข้าไปในชุดพันธุกรรมของหมู นอกจากนี้ยังตัดหน่วยพันธุกรรมของหมูออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้เนื้อเยื่อของหัวใจหมูเติบโตจนเกินขนาด

นอกจากนี้ เบนเน็ตต์ยังได้รับยาที่ออกฤทธิ์ป้องกันการฏิเสธอวัยวะซึ่งยังเป็นยาที่อยู่ในขั้นทดลอง เพื่อไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมในหัวใจหมูที่ปลูกถ่ายเข้าไปด้วย

เครดิตภาพ : Reuters