เมื่อวันที่ 11 ม.ค. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) พร้อมด้วย น.ส.สุวดี พันธุ์พานิช รองโฆษกพรรค และว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.กทม. เขต 1 แถลงเปิดศูนย์ประสานงานช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียงให้ได้รับการดูแลรักษาโดยเร็วที่สุดเพื่อลดการสูญเสียจากโรคโควิด-19 ในช่วงระบาดหนักของสายพันธุ์โอมิครอน

น.ส.สุวดี กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโรคโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยประเทศฝรั่งเศสซึ่งมีจำนวนประชากร และขนาดของประเทศ ใกล้เคียงกับไทย ล่าสุดมีผู้ติดเชื้อวันละเกือบสามแสนราย และในอังกฤษมีผู้ติดเชื้อสองแสนกว่าราย มีผู้อาการหนักต้องรักษาในโรงพยาบาลกว่าหมื่นคน แต่อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสและอังกฤษมีสัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนเข็ม 3 สูงกว่าไทยราว 3-5 เท่า 

น.ส.สุวดี กล่าวต่อว่า การที่ประชาชนไทยยังได้รับวัคซีนเข็ม 3 เพียง 8 ล้านคน อีกทั้งวัคซีน 2 เข็มแรกยังมีภูมิคุ้มกันในระดับที่ไม่สูงพอ และมีระยะห่างจนอาจเกิดความสูญเสียจำนวนมากได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องเร่งสั่งนำเข้าวัคซีน mRNA เพิ่มเติม เพราะปัจจุบัน วัคซีนดังกล่าว เหลือประมาณ 13 ล้านโด๊สเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน และสถานการณ์การแพร่ระบาดที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

น.ส.สุวดี กล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องเตรียมสั่งซื้อ ชุดตรวจ ATK ไม่ให้ขาดตลาด และควรเข้าถึงบริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และที่สำคัญต้องลดขั้นตอนเพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยากในการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร จะต้องมีจุดตรวจ ATK อย่างน้อยเขตละ 5 จุด ส่วนในพื้นที่ต่างจังหวัดต้องมีจุดตรวจอย่างน้อย ตำบลละ 1 จุด นอกจากนี้ รัฐบาลต้องเตรียมการ เพิ่มเตียงสำหรับรองรับผู้ป่วยอาการรุนแรง หรือกลุ่มที่มีภาวะเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรงไว้ด้วย

ด้านคุณหญิงสุดารัตน์ กล่าวว่า จากวิกฤติดังกล่าว เราจึงจัดตั้งศูนย์ประสานงาน เพื่อให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนให้ผู้มีความเสี่ยงด้านสุขภาพได้รับการรักษาอยู่ในการดูแลของแพทย์เร็วที่สุด โดยสามารถประสานงานผ่านเฟซบุ๊ก Line OA และทวิตเตอร์พรรค ทสท. เพื่อหวังให้ประชาชนได้รับวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่ามีประสิทธิภาพสูงที่สุดในการรับมือกับโควิดสายพันธุ์โอมิครอน เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้นให้เร็วที่สุด โดยขอให้รัฐบาลกระจายวัคซีนไปยังโรงพยาบาลใกล้บ้าน ให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายไม่ต้องรอคิว เพื่อสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับทุกคนในครอบครัว โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้สูงอายุ เด็กเล็ก และกลุ่มเสี่ยงโรคประจำตัว ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางต่อการระบาดของโควิดในครั้งนี้.