“จะไม่มีวันยอมแพ้ต่อสงครามครั้งนี้ ไม่ลดละเลิกล้มความพยายาม ไม่ว่าจะมีอุปสรรคหรือปัญหาใดๆ และจะสู้จนกว่าเราจะเอาชนะได้”

ข้อความข้างต้นจากการโพสต์เฟซบุ๊กของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ซึ่งชัดเจนว่าเป็นการออกมาส่งสัญญาณ “ไม่มีวันถอย-ไม่ลาออก” สวนทางเสียงเรียกร้องและกระแสกดดันของคนในสังคม ที่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าต้องการให้ “บิ๊กตู่” ถอยฉาก ออกจากเก้าอี้นายกฯ เพื่อเปิดทางให้คนที่มีความรู้ความสามารถขึ้นมานำพาประเทศ สู้กับ “ไวรัสนรกโควิด-19”

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดขณะนี้เป็นไปอย่างหนักหน่วง และไม่มีวี่แววจะทุเลาลง ยังคงมีผู้ติดเชื้อเฉียด 10,000 คนต่อวัน ขณะที่ผู้เสียชีวิตเพิ่มจำนวนเข้าใกล้หลัก 100 คนต่อวัน ที่สำคัญมีภาพความรันทดของผู้ติดเชื้อที่ไม่มีเตียงรักษา “นอนรอความตาย” จนสุดท้ายเสียชีวิตคาบ้าน

แม้รัฐบาลจะมีการออกแบบการแบ่งเตียง แนวทางกักตัวที่บ้าน (Home isolation) แต่การเข้าถึงผู้ป่วยในชุมชนยังไม่ทันท่วงที ขณะที่จำนวนเตียงรักษาไม่สมดุลกับยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่มีจำนวนสูงเกือบเท่าตัวผู้ป่วยที่รักษาหายกลับบ้านต่อวัน จึงทำให้ปัญหาเรื่องเตียงรักษาไม่เพียงพอเป็นเรื่องที่แก้ไม่ตก! ดังนั้นจึงกลายเป็นภาพสะท้อนความล้มเหลวที่ย้อนมาถึง “บิ๊กตู่” ที่ตอกย้ำการบริหารจัดการที่ผิดพลาดจนทำให้คนไทยต้องตายคามือแบบรายวัน

ยังไม่รวมกับความสับสนอลหม่าน “ดราม่าวัคซีน” ทั้งปัญหาเรื้อรังเรื่องจำนวนวัคซีนไม่เพียงพอความต้องการของประชาชน ส่วนการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมของรัฐบาล ก็ยังไม่สอดคล้องกับความรุนแรงของสถานการณ์การแพร่ระบาด จนทำให้ภาคเอกชน หมอบุญ ทนรอไม่ได้จนประกาสจัดหาวัคซีนเข้ามาเอง แต่ก็ยังไม่รู้ถึงวิธีการที่ชัดเจน ตลอดจนประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีในประเทศที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลต้า ได้ในอัตราที่ต่ำจนน่าใจหาย จนเรียกได้ว่าขณะนี้ชีวิตคนไทย “แขวนอยู่บนเส้นด้าย” อย่างแท้จริง แล้วยังต้องมาเป็นหนูทดลองจากการปรับสูตรฉีดวัคซีนสลับยี่ห้อ ท่ามกลางคำถามเรื่องความปลอดภัยและประสิทธิภาพ จนกลายเป็นการเพิ่มภาระความกังวลของประชาชนให้หนักอึ้งยิ่งขึ้นไปอีก

ส่วนการบริหารจัดการฉีดวัคซีนก็ยังคงย่ำแย่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มที่ควรได้รับวัคซีนเป็นอันดับแรก ทั้งในส่วนของกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว รวมถึงกลุ่มแรงงานที่เสี่ยงจะนำเชื้อไปแพร่กระจายในบ้านสู่คนในครอบครัว ซึ่งรัฐบาลจะต้องบริหารจัดการวัคซีนในสองส่วนนี้ควบคู่กันไปอย่างมีสมดุล เพื่อให้ตอบโจทย์กับสถานการณ์

ขณะที่การผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาในประเทศ ที่มีการส่งออกไปต่างประเทศจำนวนมาก สวนทางกับสถานการณ์ภายในประเทศ เพราะปัจจุบันมีวัคซีนเพียง 1 ใน 3 ของกำลังการผลิตในถูกใช้ในประเทศ แม้ล่าสุดคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติจะพิจารณาการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีน แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจน และยังมีความเป็นไปได้ว่าสัดส่วนที่ปรับใหม่ก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศอยู่ดี

ดังนั้นบทเรียนจากหลายประเทศที่เป็นฐานการผลิตวัคซีนที่มีการห้ามส่งออกวัคซีน เพื่อนำวัคซีนทั้งหมดควบคุมสถานการณ์ในประเทศให้ได้ก่อนส่งออกวัคซีนไปต่างประเทศนั้น อาจจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องกลับไปทำการบ้าน เพราะหากปล่อยให้สถานการณ์การแพร่ระบาดสวนทางกับจำนวนวัคซีนในประเทศต่อไปแบบนี้ สุดท้ายอาจเกิดหายนะทางสาธารณสุขเหมือนที่เกิดขึ้นในประเทศอินเดีย อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนเรื่องการตรวจหาเชื้อเชิงรุกเองก็เป็นไปอย่างทุลักทุเล ด้วยจุดตรวจที่มีจำกัดจนเกิดภาพประชาชนรวมตัวจำนวนมากเพื่อรอตรวจหาเชื้อโควิด ส่วนชุดตรวจโควิดแบบเร่งด่วน หรือ  Antigen Test Kits ที่ประชนสามารถตรวจหาเชื้อได้เองนั้น กลับมีราคาสูงเมื่อเทียบกับต่างประเทศ จนทำเอาคนที่มีรายได้น้อยหาเช้ากินค่ำ ไม่สามารถจับต้องได้

ถึงแม้ล่าสุด “รัฐบาลบิ๊กตู่” จะเคาะมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ออกมาแล้ว ทั้งในส่วนของผู้ประกอบการ และลูกจ้าง แต่ยังเป็นการเยียวยาแบบ “กระปริดกระปรอย” และกระจุกอยู่แค่บางกลุ่มธุรกิจ และเยียวยาแค่ในพื้นที่สีแดงเท่านั้น ทั้งที่สถานการณ์โควิดขณะนี้กระจายไปทั่วประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เกิดความเดือดร้อนกันทั่วทุกหัวระแหง ทุกธุรกิจ ทุกภาคส่วน ทุกพื้นที่ ได้รับผลกระทบไม่น้อยไปกว่ากัน และแทบจะเรียกได้ว่าการระบาดระรอกนี้หนักหนาสาหัสกว่าครั้งไหนๆ แต่การเยียวยาของรัฐบาลกลับมองแค่ผลกระทบแค่ส่วนเดียว

นอกจาก “สมรภูมิโควิด”  แล้ว ยังมี “สมรภูมิการเมือง” ที่รอเหยียบซ้ำ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ให้จมดิน ล่าสุดพรรคฝ่ายค้าน ปักธงจองกฐินซักฟอก” เตรียมที่จะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 โดยพุ่งเป้าหลักไปที่ความล้มเหลวในการแก้ไขสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 และปัญหาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ

ขณะที่ คณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสภาผู้แทนราษฎร นำโดย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ก็ได้ทีเดินเกมรุก ตรวจสอบกรณีการบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ โดยมองว่าการบริหารจัดการภายใต้ “รัฐบาลบิ๊กตู่” ดำเนินการทุกอย่างล่าช้า พร้อมยังพ่วงการตรวจสอบ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ กรณียืมนาฬิกาหรู  และตรวจสอบหาข้อเท็จจริงกรณี “บิ๊กตู่” พักในบ้านรับรองของกองทัพบก ชนิดที่ว่า “กัดไม่ปล่อย”

และอีกประเด็นร้อน ในการประชุมของคณะกรรมาธิการ​ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2565 สภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีขึ้นในสัปดาห์หน้า จะมีการพิจารณางบกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะรวมงบประมาณในการซื้อเรือดำน้ำอยู่ด้วย โดย​ กมธ.ฝั่งฝ่ายค้าน นำโดย ยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เตรียมที่จะโยนคำถามกลางที่ประชุม​ ก​มธ. แบบจี้ใจดำว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำกับชีวิตประชาชน…จะเลือกอะไร? เพราะปัจจุบันผู้บัญชาการทหารเรือยังไม่มีท่าทีจะถอยในเรื่องนี้ แต่กลับกันยังคงเร่งเดินหน้าเต็มกำลัง ดังนั้นจุดนี้เป็นจุดที่จะต้องเลือกว่าระหว่างชีวิตคนไทยกับเรือดำน้ำ

ตามด้วยความร้อนแรงของการเมืองนอกสภา แม้การแพร่ระบาดที่รุนแรงขึ้นจะทำให้การชุมนุมลดน้อยลง แต่ยังมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ทั้งกรณีกลุ่มไทยไม่ทน และการจัดคาร์ม็อบ ที่มุ่งกดดันพรรคร่วมรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยพรรคประชาธิปัตย์ ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล รวมไปถึงความเคลื่อนไหวของ พรรคไทยสร้างไทย ที่นำโดย “หญิงหน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ที่มีการระดมรายชื่อประชาชน 650,000 ชื่อ ยื่นฟ้อง “บิ๊กตู่” และผู้ที่เกี่ยวข้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ จากกรณีสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมอีกจำนวน 10.9 ล้านโด๊ส ในวงเงินประมาณ 6,100 ล้านบาท  

แต่ไฮไลต์การเมืองยังคงอยู่ที่ “โทนี่ วู้ดซัม” หรือ ทักษิณ ชินวัตร ในโลกคลับเฮาส์ ที่กระแสมาแรงแซงหน้า “บิ๊กตู่” ถึงขั้นออกมาเย้ยว่าพร้อมให้คำปรึกษากับรัฐบาล แบบ Work from Dubai  ซึ่งก็เรียกเสียงเชียร์จากบรรดาแฟนคลับได้เป็นอย่างดี จนคะแนนนิยมพุ่งปรี๊ดสวนทางคะแนนนิยมของรัฐบาล พร้อมกันนั้นยังออกมาฟันธงว่า “บิ๊กตู่” จะยุบสภาช่วงปลายปีนี้ อย่างช้าไม่เกินเดือน ม.ค. 2565

ปิดท้ายด้วยคำพยากรณ์ดวงเมืองประเทศไทยช่วงครึ่งปีหลัง 2564 จาก “กูรูโหราศาสตร์” หลายๆ คน ต่างทำนายทายทักไปในทิศทางเดียวกันว่ามีเกณฑ์ที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยรัฐบาลอาจไม่ได้รับการสนับสนุนเหมือนเก่าจากประชาชนและกลุ่มนักธุรกิจที่เคยสนับสนุน เกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาล จนอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในคณะรัฐมนตรี หรือผู้บริหาร โดยเฉพาะในช่วงเดือน พ.ย. 2564-ก.พ. 2565 มีโอกาสสูงที่จะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้น ทั้งการประกาศยุบสภา หรืออาจเกิดรัฐประหารยึดอำนาจ

ถึงเวลาแล้วที่ “บิ๊กตู่” ควรจะต้อง “เทคแอ๊คชั่น” ทำอะไรสักอย่างที่พอจะทำให้รัฐบาลเป็นที่พึ่งที่หวังของประชาชนได้ในช่วงเวลาอันยากลำบากนี้ หรือหากทำอะไรไม่ได้เลย ก็ควรพิจารณาตัวเองทำตามคำขอสุดท้ายของประชาชน! และขออย่าดูถูกประชาชน เพราะหากดันทุรังต่อไปแบบนี้ทุกอย่างจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเมื่อใดที่ประชาชนหมดความเชื่อมั่นในรัฐบาลเมื่อนั้นประเทศไทยอาจจะต้องเจอกับหายนะ.