สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหรัฐรายงาน ดัชนีราคาผู้บริโภค ( ซีพีไอ ) ไม่รวมสินค้าอาหารสดและเชื้อเพลิง ซึ่งมีความผันผวนสูง พุ่งชึ้น 7.0% เมื่อเทียบแบบรายปี ในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นสถิติสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2525


ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต ( พีพีไอ ) ซึ่งปรับตัวสูงขึ้น 9.7% เมื่อเทียบแบบปีต่อปี ในเดือนธ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุด นับตั้งแต่เดือนพ.ย. 2553


ด้านนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ ( เฟด ) ส่งสัญญาณเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อยับยั้งการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และตรึงราคาสินค้า โดยยืนยันว่า เศรษฐกิจในภาพรวมจะไม่ได้รับผลกระทบ

ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน กล่าวถึงภาวะเงินเฟ้อที่สหรัฐกำลังเผชิญ ว่าเป็นความท้าทายระดับเดียวกับที่นานาประเทศกำลังประสบเช่นกัน ซึ่งเป็นไปตามกลไกที่ต้องเกิดขึ้น หลังเศรษฐกิจผ่านพ้นแรงเสียดทานจากการแพ่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิด-19


ทั้งนี้ ผู้สันทัดกรณีเชื่อว่า การที่อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐเพิ่มขึ้นสูงสุด นับตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน เป็นผลจากความต้องการสินค้าและบริการขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้น ด้วยแรงผลักดันจากงบประมาณเยียวยาระลอกใหม่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ในเวลาเดียวกัน ปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทานซึ่งยังคงมีอยู่ ส่งผลกระทบให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นหลายอย่างมีราคาแพงขึ้น และสถานการณ์อาจดำเนินอยู่นานกว่าที่มีการคาดการณ์.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES