เมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ปฏิเสธตอบข้อซักถามสื่อมวลชนหลังเรียกนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เข้าพบ เพื่อหารือและรับฟังแนวทางการแก้ปัญหาหมูแพงทั้งนี้เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าการได้พูดคุยแล้วเป็นอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ก็โอเค”
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ให้อธิบดีกรมปศุสัตว์เข้าพบเพื่อติดตามการแก้ปัญหาหลังจากที่ไทยมีการประกาศพบเชื้อโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) โดยนายกรัฐมนตรี ขอให้เร่งตรวจสอบการขึ้นทะเบียนเกษตรเจ้าของฟาร์มหมูให้ครอบคลุมทั้งรายย่อยและรายใหญ่ ประสานความร่วมมือไปที่กระทรวงมหาดไทย กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่และให้กรมปศุสัตว์ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพการเลี้ยงหมู ทั้งโรงฆ่าสัตว์ และเขียงหมูโดยเร็ว
นอกจากนี้นายกรัฐมนตรี ให้ปศุสัตว์จังหวัดติดตามพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค เพื่อสอบสวนสาเหตุ เร่งสำรวจปริมาณความต้องการบริโภคและใช้เนื้อหมูในประเทศ ขณะเดียวกันให้ศึกษาความจำเป็นในการนำเข้าเนื้อหมูชั่วคราว และการจัดหาพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์ ผลิตลูกหมูเพิ่มเติมในระบบ และให้กรมปศุสัตว์จัดตั้งวอร์รูม (War Room) สื่อสาร ชี้แจงการทำงานเพื่อแก้ปัญหาหมูแพงและโรคระบาดทุกวัน เพื่อประชาชนและสื่อมวลชนได้รับทราบ จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายด้วย
ขณะที่นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ เรียกมาถาม กรมปศุสัตว์ขณะนี้ได้มีการแก้ไขปัญหาอย่างไร ไปถึงไหน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเข้าใจต้องการให้เดินหน้าไปด้วยกันและสั่งให้ควบคุมโรคเร็วที่สุด
เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่บอกว่ากรมปศุสัตว์นั้นปกปิดการแพร่ระบาด นายสัตวแพทย์สรวิศ กล่าวว่า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีเข้าใจ เนื่องจากได้รายงานนายกรัฐมนตรีโดยตลอดตั้งแต่ปี 2561 ที่แพร่ระบาดในประเทศจีน และปี 2562 ทำอะไรไปบ้าง ยกระดับสู่การเป็นวาระแห่งชาติ หากเราปกปิด คงส่งออกไปต่างประเทศในช่วง 2 ปีไม่ได้ เพราะต้องตรวจโรคในเนื้อหมูจึงเป็นคำตอบที่สำคัญ
เมื่อถามว่า นายกรัฐมนตรี ขีดเส้นตายในการแก้ไขปัญหา หรือไม่ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า “ไม่ โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ช่วยเหลือกัน เพราะต้องเข้าใจว่าโรคนี้ไม่ได้เกิดเฉพาะในประเทศไทย แต่เกิด 34 ประเทศทั่วโลก แต่นายกรัฐมนตรีได้ถามผมว่าราคาสุกรทั้งระบบจะแล้วเสร็จเมื่อใด ซึ่งผมรายงานไปว่าจะใช้เวลา 8-12 เดือน”
เมื่อถามว่า ถอดใจหรือไม่ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตั้งแต่ทำงานเป็นอธิบดีผ่านโรคระบาดมาหลายครั้ง สามารถควบคุมเรียบร้อยทั้งหมด เช่น โรคในม้า และ lumpy Skin ในวัว ส่วนโรคนี้เกิดมาร้อยปียังไม่มีวัคซีน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเข้าใจและให้กำลังใจในการทำงานสำเร็จลุล่วง
ด้านนายสัตวแพทย์กิจจา อุไรรงค์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เดินทางเข้าพบนายกรัฐมนตรีด้วยนั้น กล่าวถึงกรณีฟาร์มแห่งหนึ่งในจังหวัดนครปฐม ออกมาระบุว่ามีการแพร่ระบาดของเชื้อ ASF และมีหมูล้มตาย มากว่า 2 ปีแล้วว่า ประเด็นสำคัญเมื่อประกาศโรคอย่างเป็นทางการ มาตรการที่ต้องดำเนินการเป็นเรื่องการฟื้นฟู อุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรให้เข้มแข็งเหมือนเดิม ส่วนความเสียหายเป็นอย่างไรต้องรอการประเมินอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนประเด็นที่คนไทยบริโภคหมูที่ติดเชื้อมากว่า 2 ปีแล้วนั้น นายสัตวแพทย์กิจจา ชี้แจงว่าหากเป็นโรค ASF จริง โรคนี้ไม่ก่อโรคในคนและสัตว์ชนิดอื่นเนื้อหมูสามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่ต้องเน้นสุขอนามัยที่ต้องกินสุก และไม่มีพิษภัยต่อคนยกเว้นสุกร ขออย่าตระหนกและตกใจ
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการหารือกับนายกรัฐมนตรีเสร็จ อธิบดีกรมปศุสัตว์และนายสัตวแพทย์กิจจา ได้สวมกอดให้กำลังใจกันด้านหลังตึกไทยคู่ฟ้า.