เมื่อวันที่ 14 ม.ค. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รวม.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่ประเทศไทยได้มีตรวจพบเชื้อโรค ASF ในสุกรจากการเก็บตัวอย่างจากพื้นผิวสัมผัส (surface swab) ที่โรงฆ่าแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม จึงสั่งการด่วนให้กรมปศุสัตว์รีบดำเนินการทันที โดยนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เร่งดำเนินการเพื่อหารือและทำความเข้าใจร่วมมือกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว ซึ่งจะประกาศเขตโรคระบาดและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดที่พบโรค และรายงานแจ้งไปยังองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ต่อไป โดยการดำเนินการต่างๆ จะคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบเพื่อลดความเสียหายและผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตสุกรและเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด วอนเกษตรกรอย่าตระหนก โรค ASF เกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ย้ำไม่ระบาดติดต่อสู่คน

จับตา ‘บิ๊กตู่’ เรียกพบด่วน ‘อธิบดีกรมปศุสัตว์’ แจงปมร้อนโรคASF ระบาดราคาหมูพุ่ง

กรมปศุสัตว์ย้ำไม่เคยปกปิดโรค ASF ในสุกรได้ดำเนินการเพื่อเฝ้าระวังป้องกันโรคมาตั้งแต่ปี 2561 ที่พบการระบาดเกิดโรค ASF ในสุกรครั้งแรกในประเทศจีน ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการเตรียมความพร้อมรับมือต่อโรคมาโดยตลอด โดยสั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเฝ้าระวังและควบคุมโรค การซ้อมแผนเตรียมความพร้อมรับมือ จัดทำแผนเตรียมความพร้อมเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมโรค ASF ในสุกร และแนวทางเวชปฏิบัติของโรค ASF ในสุกร รวมทั้งบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจเข้มนักท่องเที่ยวและเข้มงวดตรวจสอบการลักลอบนำเข้าสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเพื่อป้องกันโรคเข้าประเทศ

เพิ่มมาตรการเข้มงวดในการส่งออก ลดความเสี่ยงจาการส่งออกสุกร โดยห้ามรถขนส่งสุกรมีชีวิตเข้าไปส่งสุกรในประเทศที่มีการระบาด ให้ใช้รถขนถ่ายข้ามแดนในการส่งสุกรไปยังประเทศปลายทางแทน และต้องมีการพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรค การบูรณาการความร่วมมือร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ในการจัดประชุมความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน (ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม) ในการป้องกันโรค การทำงานบูรณาการร่วมกับภาคเอกชน ในการจัดตั้งโรงพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคทั้งหมด 5 จุด ที่ด่านกักกันสัตว์เชียงราย หนองคาย นครพนม มุกดาหาร และสระแก้ว การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ โดยได้จัดทำเป็นภาษาต่างๆ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาลาว ภาษาพม่า ภาษาเขมร เป็นต้น การสุ่มเก็บตัวอย่างและส่งวิเคราะห์ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติเพื่อเฝ้าระวังโรค ซึ่งผลวิเคราะห์จากการเก็บตัวอย่างตอนนั้นเป็นลบต่อโรค ASF ในสุกรทั้งหมด แต่ให้ผลบวกต่อโรคชนิดอื่นๆ เช่น โรคกลุ่มอาการระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร (PRRS) โรคท้องร่วงระบาดในสุกร (PED) โรคอหิวาต์สุกร (CSF) และโรคปากและเท้าเปื่อย (FMD) เป็นต้น

สำหรับประเด็นเงินชดเชย เนื่องจากโรคนี้ไม่มีวัคซีนและยารักษาจำเพาะ หากพบการระบาดของโรคในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยากก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกันโรคมาโดยตลอด ซึ่งหนึ่งในมาตรการที่ดำเนินการคือ การลดความเสี่ยงโดยการทำลายสุกรที่มีความเสี่ยงสูงเพื่อป้องกันการเกิดโรค อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 พร้อมชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายเพื่อป้องกันโรค ที่ผ่านมาได้ดำเนินการขออนุมัติจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบกลางรายการสำรองจ่ายกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยได้ดำเนินการชดเชยค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลายมาแล้วจำนวน 3 ครั้ง รวมเกษตรกรทั้งสิ้น 3,239 ราย สุกรจำนวน 112,752 ตัว เป็นเงิน 470,426,009 บาท และในปี 2565 กรมปศุสัตว์ได้ขออนุมัติงบประมาณในส่วนดังกล่าวแก่เกษตรกรจำนวน 4,941 ราย สุกรจำนวน 159,453 ตัว เป็นเงิน 574,111,262.5 บาท เพื่อเป็นค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติแล้ว จะเร่งเยียวยาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรโดยเร็วต่อไป

สำหรับกรณีการขอคืนสถานภาพปลอดโรค ASF ในสุกรตามที่องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) ได้กำหนดใน Terrestrial Animal Health Code (CHAPTER 15.1. INFECTION WITH AFRICAN SWINE FEVER VIRUS) สามารถขอคืนได้ในรูปแบบ country free, zone free หรือ compartment free โดยต้องทำตามข้อกำหนดและเงื่อนไขของ OIE โดยต้องมีการเฝ้าระวังโรคเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีสุกรป่วยที่ติดเชื้อไวรัส ASF ในสุกรในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา สินค้าสุกรที่ถูกนำเข้ามาเป็นไปตามข้อกำหนดของ OIE ต้องมีหลักฐานแสดงว่าไม่มีการปรากฏของเห็บ (Ornithodoros ticks) เกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ มีหลักฐานการฆ่าเชื้อเกิดขึ้นในโรงเรือนที่ติดเชื้อหลังสุดท้ายและร่วมกับมีการการทำลายสุกร และใช้สุกรสำหรับการเฝ้าระวังโรค (sentinel pigs) ในโรงเรือน โดยผลที่ได้ต้องเป็นลบต่อเชื้อ ASF ในสุกร

ด้าน นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า เมื่อตรวจพบโรคที่นครปฐม กรมปศุสัตว์ได้เร่งประชุมคณะทำงานด้านวิชาการในการป้องกัน ควบคุมและกำจัดโรค ASF ในสุกรร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว ซึ่งจะประกาศเขตโรคระบาด ASF ในประเทศไทยและมีการควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตรรอบจุดที่พบโรคทันทีโดยการดำเนินการต่างๆ จะคำนึงถึงผลกระทบในทุกมิติอย่างรอบคอบเพื่อลดความเสียหายและผลกระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรและกระบวนผลิตสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด วอนผู้บริโภคอย่าตระหนกเนื่องจากโรค ASF เกิดเฉพาะในสุกรเท่านั้น ย้ำว่าไม่ก่อโรคในคนหรือสัตว์อื่นแน่นอน เนื้อและอวัยวะสุกรที่จำหน่ายในไทยยังมีความปลอดภัยรับประทานได้ตามปกติ ขอให้มั่นใจได้เพราะมีการเข้มงวดคัดกรองสุขภาพก่อนฆ่า (Ante-mortem) ไม่ให้มีสุกรป่วยด้วยอาการ ASF เข้าผลิตให้แก่ผู้บริโภค

โรค ASF เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสซึ่งก่อโรคเฉพาะในสัตว์สกุลสุกร คือสุกรและสุกรป่า ถือเป็นโรคอุบัติใหม่ในประเทศไทยซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน ตัวโรคก่อความรุนแรงมากในสุกรสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากมีอัตราป่วยในสุกร 100% อัตราตาย 30-100% ในลูกสุกรอัตราตายสูง 80-100% ภายใน 14 วัน ตัวเชื้อไวรัสมีความทนทานในสภาพแวดล้อมสูง ต้องใช้ระยะเวลาถึง 30 นาทีในการทำลายด้วยยาฆ่าเชื้อ สุกรสามารถติดเชื้อได้จากสัมผัสสิ่งคัดหลั่งจากสุกรป่วยหรือสิ่งปนเปื้อน การกินอาหารที่มีเชื้อปนเปื้อน และการโดนเห็บที่มีเชื้อกัด อาการของโรคสามารถพบได้ทุกกลุ่มทุกช่วงอายุสุกร มีการตายเฉียบพลัน มีไข้สูง ผิวหนังแดง มีจุดเลือดออก หรือรอยช้ำโดยเฉพาะหลังใบหู ท้อง ขาหลัง มีอาการทางระบบอื่น เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร การแท้งในช่วงของการตั้งท้อง จนถึงปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดที่สามารถพัฒนาวัคซีนในการป้องกันโรคและยารักษาที่จำเพาะได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญในการควบคุมการโรคให้สงบได้โดยเร็วต้องอาศัยความร่วมมือจากเกษตรกรกับกรมปศุสัตว์ในการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 อย่างเคร่งครัดในการรายงานกรมปศุสัตว์โดยเร็ว

กรณีสงสัยโรค ASF เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะเข้าควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงทีและควบคุมการเคลื่อนย้ายสุกรมีชีวิตเพื่อหยุดการระบาด รวมทั้งเกษตรกรต้องยกระดับมาตรการป้องกันโรคในฟาร์มขั้นสูงสุด โดยปรับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (biosecurity) ตามแนวทางมาตรฐานฟาร์ม GAP หรือ GFM ประกอบด้วย การพักตัวและอาบน้ำฆ่าเชื้อคนที่เข้าฟาร์มทุกคน การพ่นยาฆ่าเชื้อรถขนส่งและอุปกรณ์ทุกครั้งที่เข้า-ออกฟาร์ม การล้างพ่นยาฆ่าเชื้อโรงเรือนโดยมีรายงานยาฆ่าเชื้อที่สามารถฆ่าเชื้อ ASF ได้ตามอัตราส่วนที่เหมาะสม เช่น Glutaraldehyde, Phenol, Iodine, Chlorine เป็นต้น การป้องกันและกำจัดสัตว์พาหะ การไม่นำเศษอาหารมาเลี้ยงสุกร การเลี่ยงนำเนื้อสุกรเข้าฟาร์ม