เมื่อวันที่ 16 ม.ค. นายชวรงค์ ลิมปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2565 มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนพ.ศ…. ว่า กฎหมายดังกล่าวมีการผลักดันปรับปรุงแก้ไขตัวร่างมาอย่างต่อเนื่องและยืนยันร่างล่าสุดที่ผ่าน ครม.เป็นกฎหมายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพและประสิทธิภาพในการกำกับดูแลสื่อในเรื่องของจริยธรรม ไม่ได้ให้อำนาจคณะกรรมการฯ ปรับหรือเพิกถอนใบอนุญาต ไม่ได้กำหนดว่าคนที่เป็นสื่อมวลชนต้องไปขออนุญาต แต่หากละเมิดจริยธรรมจะมีการลงโทษ 3 ระดับ คือตักเตือน ภาคทัณฑ์ และตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งนี้สภาการสื่อมวลชนฯ มีกำหนดจัดเสวนาเรื่องดังกล่าววันที่ 20 ม.ค.โดยสามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์สภาการสื่อมวลชนฯ

รศ.ดร.อัศวิน เนตรโพธิ์แก้ว ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเน้นหลักสำคัญ คือ การแยกสื่อมวลชนที่ประกอบอาชีพและธุรกิจด้านนี้ออกจากบุคคลที่ทำสื่อผลิตสื่อกันโดยทั่วไปเพราะหากไม่แยกตรงนี้ออกจากกัน วิธีการบริหารจัดการจะสับสน เมื่อแยกได้แล้ว สื่อที่เป็นอิสระ สื่อบุคคล ควรได้รับการกำกับดูแลโดยกลไกอื่นโดยรวมแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ เน้นดูแลมาตรฐานวิชาชีพของคนทำงานและมีอาชีพอยู่ในวงการสื่อสารมวลชนจริง ๆ แต่ไม่ได้จำกัดว่าผู้ที่จะเป็นสื่อต้องจบการศึกษาทางด้านสื่อสารมวลชน หรือ นิเทศศาสตร์โดยตรงเท่านั้น

“ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ พื้นที่กลางสำหรับการกำกับดูแลร่วมกัน ไม่ได้ถอยหลังกลับไปกำกับโดยรัฐ แม้จะมีหน่วยงานรัฐเช่นกรมประชาสัมพันธ์รวมอยู่ด้วยแต่มาทำหน้าที่ในกระบวนธุรการเท่านั้น” รศ.ดร.อัศวิน กล่าว

ด้านนายจักรกฤษ แววคล้ายหงษ์ เจ้าของและบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ประชามติ จังหวัดตราด กล่าวว่า แม้จะเห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ส่วนตัวต้องการให้บรรจุเรื่องการจดทะเบียนสื่อ รวมอยู่ในร่าง พ.ร.บ.นี้ด้วย เนื่องจากสื่อต่างจังหวัดมีประเด็นในเรื่องจริยธรรมค่อนข้างมาก มีผู้คนหลากหลายเข้ามาผลิตสื่อออนไลน์แล้วบอกว่าตัวเองเป็นสื่อ โดยไม่มีความรู้ ไม่มีความเข้าใจอีกทั้งองค์กรวิชาชีพสื่อในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ ไม่ส่งเสริมเรื่องจริยธรรมสื่อ ขณะที่กรอบจริยธรรมของสภาการสื่อมวลชนฯ ใช้ได้กับสื่อมวลชนท้องถิ่นเพียง 40-50% เท่านั้นและเชื่อหากร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะทำให้องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนท้องถิ่นได้รับผลดีมากกว่าผลเสีย.