นับเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล ที่ต้องปราชัยศึกเลือกตั้งซ่อมชุมพร-สงขลา เมื่อวันที่ 16 ม.ค.

พื้นที่เขต 1 ชุมพร ครบคลุมพื้นที่ 2 อำเภอ คืออำเภอเมืองชุมพร-อำเภอสวี ผลนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ อิสรพงษ์ มากอำไพ จากพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ชนะขาดลอย 48,981 คะแนน ส่วน ชวลิต อาจหาญ จากพรรค พปชร. ได้ 32,229 คะแนน

แพ้ขาดลอย 16,752 คะแนน!

พื้นที่เขต 6 สงขลา ครอบคลุมพื้นที่ 3 อำเภอ อำเภอหาดใหญ่-อำเภอคลองหอยโข่ง-อำเภอสะเดา น้ำหอม-สุภาพร กำเนิดผล พรรค ปชป.ได้ 45,576 คะแนน ส่วนอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ จากพรรค พปชร.ได้ 40,531 คะแนน

ปชป.ทิ้งห่าง 5,681 คะแนน!

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร.ยกทัพหลวงเปิดปราศรัยใหญ่พื้นที่ชุมพร-สงขลา

หลังจากนี้ทีมวอร์รูมพรรค พปชร.ต้องทำการบ้านอย่างหนักถอดบทเรียนความพ่ายแพ้ เนื่องด้วย ผลเลือกตั้งซ่อมรอบนี้สะท้อนให้เห็นภาพพรรค พปชร.ที่เป็นนั่งร้านให้กลุ่มพี่น้อง 3 ป. ประกอบด้วย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มเสื่อมมนต์ขลัง

“กระแส” กับ”กระสุน” ภายใต้เงาของกลุ่ม 3 ป. ไม่สามารถเจาะพื้นที่หัวเมืองภาคใต้ที่เป็นฐานที่มั่นพรรค ปชป. ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป

จากการถอดรหัสสาเหตุสำคัญที่ทำให้ พรรค พปชร. ปราชัยในศึกเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ มาจาก 3 ปัจจัยหลัก

(1) ปัจจัยแรกคือการวางตัวผู้สมัคร หากเทียบผู้เล่นกันแบบปอนด์ต่อปอนด์ พรรค ปชป.ถือว่ามีแนวรับที่แข็งแกร่ง ทั้ง 2 พื้นที่ชุมพร-สงขลา

แม้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค พปชร. ระดมไพร่พลยกทัพหลวงเปิดปราศรัยใหญ่ในพื้นที่ชุมพร-สงขลา แต่เจาะพรรค ปชป.ไม่เข้า

เนื่องด้วยสาเหตุมาจากพื้นที่เขต 1 ชุมพร พรรค ปชป. อาศัยพลังเครือข่าย “จุลใสแฟมิลี่” ของทีมลูกหมี ชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร 1 ใน 3 ทหารเสือ กปปส. ส่วนพื้นที่เขต 6 สงขลา พรรค ปชป.ใช้เครือข่ายของ “เดชอิศม์ ขาวทอง” รองหัวหน้าพรรค ปชป. แม่ทัพคุมพื้นที่ภาคใต้ป้ายแดง ที่มีต้นทุนฐานเสียงหนาแน่นในการรักษาพื้นที่

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร.ช่วยหาเสียงโค้งสุดท้าย

(2) ปัจจัยตัวที่สอง เบื้องหลังความปราชัยของพรรค พปชร.ครั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากเกิดแนวร่วมมุมกลับ จากกรณี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พปชร. เปิดปราศรัยออฟไซด์ ช่วงโค้งสุดท้าย

ในจังหวะ ปากจ่อไมค์ ไฟส่องหน้า ผู้กองธรรมนัส ออฟไซด์ พาดพิงเรื่อง ผู้แทนต้องชาติตระกูลดี ให้เลือกคนที่มีเงิน กระทั่งถูกนำไปขยายผลโจมตี พรรค พปชร. ดูถูกคนใต้ แบ่งแยกรวย-จน นำไปสู่การร้องเรียน กกต. และอาจลามไปเรื่องยุบพรรค

หลังจากนี้มีแนวโน้มสูง กลุ่มต่างๆ ที่อยู่ขั้วตรงข้ามภายในพรรค พปชร.จะออกมากดดันให้ผู้กองธรรมนัส แสดงความรับผิดชอบ!

(3) ปัจจัยตัวที่สาม ในทางการเมือง พรรค พปชร. คือฐานอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติที่ส่ง กลุ่มพี่น้อง 3 ป. ขึ้นกุมบังเหียนบริหาร ประเทศลากยาวต้ังแต่ปี 2557

ทว่าผลงานของกลุ่ม 3 ป. เรื่องแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ ไม่เข้าตากรรมการ

ในทางตรงข้าม จังหวะที่ กลุ่ม 3 ป. เรตติ้งตก แต่พรรค ปชป. เดินเกมผลักดันโครงการประกันรายได้พืชเกษตร 5 ชนิด ต่อเนื่อง 3 ปีซ้อน ใช้วงเงินงบประมาณ 2.2 แสนล้านบาท ช่วยเกษตรกร 7.92 ล้านครัวเรือน

คู่ขนานกับการ ขายหมู-ไก่-ไข่ ธงฟ้าราคาถูก กลยุทธ์นี้ ทำให้คะแนนนิยมพรรค ปชป.เริ่มฟื้นกลับมาอย่างต่อเนื่อง

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรค ปชป. ประกาศเดินหน้าผลักดันโครงการประกันรายได้พืชเกษตร 5 ชนิด

เอาเป็นว่ามองข้ามชอตไปเลย โจทย์สำคัญของพรรค พปชร.หลังจากนี้ คือศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม. เขต 9 หลักสี่-จตุจักร วันที่ 30 ม.ค. ที่มีคู่ชิงดำระหว่าง มาดามหลี-สรัลรัศมิ์ เจนจาคะ พรรค พปชร. กับสุรชาติ เทียนทอง พรรคเพื่อไทย

หากสนามเลือกตั้งซ่อม กทม.เขต 9 พรรค พปชร. ปราชัย เท่ากับเป็นการพ่ายแพ้ 3 นัดซ้อนติดต่อกัน ถือเป็นสัญญาณอันตรายที่สะท้อนให้เห็นภาพ กลุ่มพี่น้อง 3 ป.และ พปชร. กำลังก้าวมาถึงจุดตกต่ำสุดขีด

เข้าทำนองกระแสหมด-กระสุนด้านในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อก่อนรัฐบาลครบวาระต้นปี 2566!