การมีองค์กรกำกับดูแลการทำหน้าที่ จะกระทบต่อเรื่องสิทธิเสรีภาพในการทำงาน เนื่องจากเปิดโอกาสให้คนของภาครัฐเข้ามาแทรกแซงได้ และสภาพปัจจุบันที่ “ใครๆ ก็เป็นสื่อได้” เพราะโซเชียลมีเดีย ทำให้การกำกับดูแลที่เป็นรูปธรรมก็ทำได้ยากขึ้น ทางที่ดีเมื่อมีข่าวสารอะไรที่ต้องชี้แจง รัฐก็ใช้พื้นที่สื่อชี้แจงได้ หรือดำเนินการตามกฎหมายถ้าผิด

แต่ต่อมา มติ ครม.เมื่อ 11 ก.ค. ก็ผ่าน พ.ร.บ.นี้ อ้างว่า กฎหมายนี้ตราขึ้นตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศของรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วย “การส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” ซึ่งในปี 2565 ต้องรายงานความคืบหน้าของการปฏิรูปในด้านต่างๆ ต่อวุฒิสภา

ใจความหลักๆ คือ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมสื่อมวลชนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 แต่การใช้เสรีภาพนั้นต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน คำถามคือ การนิยาม “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” เชื่อมโยงกับความมั่นคงของ “รัฐบาล” หรือไม่  

รวมทั้งเสนอข่าวนั้นจะต้องปฏิบัติตามจริยธรรมสื่อมวลชนด้วย เช่น การเสนอข้อเท็จจริงด้วยความถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน และเป็นธรรม การให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลซึ่งได้รับผลกระทบจากการเสนอข่าว หรือการแสดงความคิดเห็น เป็นต้น  ซึ่งต้องมี “ประมวลจริยธรรม” ที่ไม่รู้ว่าใช่ของพวกสมาคมวิชาชีพหรือไม่

เสรีภาพของสื่อ ต้องไม่ขัดต่อหน้าที่ของปวงชนชาวไทยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คำนี้ตีความได้อีก จะให้เข้าข้างรัฐก็ได้ว่า ถ้าตีข่าวความผิดพลาดของรัฐไปแล้วทำให้เกิดความไม่พอใจรัฐ ก็จับแพะชนแกะให้เข้าข่ายผิดหรือไม่ ..ส่วนที่ว่า ต้องเคารพ ไม่ปิดกั้นความเห็นต่างของบุคคลอื่น แล้วถ้าเห็นต่างจากรัฐ เขามีสิทธิพูดแค่ไหน

ประเด็นสำคัญคือ กำหนดให้มี “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน องค์ประกอบของสภาดังกล่าว มีใครบ้าง ? ครอบคลุมสื่อทุกประเภทหรือไม่ รวมถึงสื่ออินเทอร์เน็ต นักข่าวภาคพลเมืองอะไรต่างๆ จะดูแลอย่างไร

สภาวิชาชีพฯ ทำหน้าที่กำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาจริยธรรมสื่อมวลชน ก็มีคำถามอีกจริยธรรมสื่อในความหมายของรัฐคืออะไร ? แล้วจะมีการนำสื่อมาอบรมจริยธรรมแบบว่า “ข่าวแบบไหนควรนำเสนอ” หรือไม่ แต่ถ้ามองข้อดีส่วนนี้คือเรื่องการมีแนวทางสำหรับพวกยูทูบเบอร์ นักข่าวภาคพลเมือง

ประเด็นเรื่อง “ความมั่นคงของรัฐ” สำคัญและต้องจับตายิ่งยวด เป็นสิ่งที่ยังทำความเข้าใจกันได้ค่อนข้างลำบากในสังคมไทย เพราะมันกว้าง ไม่มีนิยามเป็นข้อๆ ว่าคืออะไรบ้าง อย่างข่าวหมูแพง หมูตาย มันเป็นการประจานความล้มเหลวในการบริหารงานของรัฐหรือไม่ แล้วเรียกว่าทำให้ประชาชนตื่นตระหนก กระทบความมั่นคงหรือไม่

หลังจากนี้จะต้องส่งร่างกฎหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ และส่งให้รัฐสภาผ่านกฎหมายต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่อยากให้ฝ่ายความมั่นคงหลักคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม มาตอบให้ชัดเรื่ององค์ประกอบคณะกรรมการฯ ขอบเขตการทำงาน หลักจริยธรรม และขอบเขตการนำเสนอข่าวของสื่อ

รอดูท่าทีขององค์กรภาควิชาชีพสื่อต่างๆ ที่ว่าจะออกมาในวันที่ 20 ม.ค.นี้ จะเอาอย่างไร.