สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ว่า สำนักงานราชทัณฑ์ฮ่องกงเผยแพร่แถลงการณ์ เรื่องการปล่อยนายเอ็ดเวิร์ด เหลียง นักการเมืองและนักเคลื่อนไหว วัย 30 ปี ออกจากเรือนจำความมั่นคงสูง เชค ปิก บนเกาะลันเตา นอกชายฝั่งทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮ่องกง เมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันพุธ ( 02.00 น. ตามเวลาในประเทศไทย )


อนึ่ง ทางการฮ่องกงให้เหตุผลของการปล่อยตัวเหลียงในเวลารุ่งสาง ว่าเพื่อความปลอดภัย และเป็นไปตามความประสงค์ของผู้ที่ได้รับอิสรภาพ ขณะที่สื่อมวลชนซึ่งทราบข้อมูลล่วงหน้า พากันมาปักหลักรออยู่หน้าประตูเรือนจำ แม้เหลียงปฏิเสธให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว และเดินทางออกจากพื้นที่ ทันทีที่ได้รับการปล่อยตัว แต่หลังจากนั้น เจ้าตัวโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว ขอบคุณทุกความสนับสนุนตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทว่าหลังจากนั้น บัญชีเฟซบุ๊กของเหลียงหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ

บรรยากาศหน้าเรือนจำความมั่นคงสูง เชค ปิก บนเกาะลันเตา หลังมีการปล่อยตัวนายเอ็ดเวิร์ด เหลียง


เหลียงเข้าสู่เรือนจำ เมื่อปี 2561 จากบทบาทในการชุมนุมข้ามคืน เกี่ยวกับกฎหมายความสะอาดและความขัดแย้งเรื่องการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบกิจการขายอาหารริมทาง ในย่างมงก๊ก เมื่อสองปีก่อนหน้านั้น โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นที่หหลายฝ่ายเรียกว่า “การปฏิวัติลูกชิ้นปลา” บานปลายกลายเป็นความรุนแรง ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 130 คน ส่วนใหญ่เป็นตำรวจ


ทั้งนี้ ศาลพิพากษาให้เหลียงรับโทษจำคุก 6 ปี ฐานร่วมก่อการจลาจลและประทุษร้ายร่างกายต่อเจ้าพนักงาน แต่ได้รับการบรรเทาโทษลง 1 ใน 3 เนื่องจากมีความประพฤติดี แม้เหลียงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในทางใดกับการการประท้วงครั้งใหญ่ ต่อต้านคณะผู้บริหารฮ่องกงและรัฐบาลกลางในกรุงปักกิ่ง เมื่อปี 2562 แต่คำขวัญว่า “ปลดปล่อยฮ่องกง การปฏิวัติแห่งยุคสมัยของเรา” ( Liberate Hong Kong, revolution of our times ) ซึ่งเหลียงเคยใช้เป็นสโลแกนหาเสียงเลือกตั้งซ่อม เมื่อปี 2559 ได้รับความนิยมอย่างมากจากผู้ประท้วง


อย่างไรก็ตาม คณะผู้บริหารฮ่องกงประกาศเมื่อเดือน ก.ค. 2563 ให้คำขวัญดังกล่าว “เป็นวลีต้องห้าม” เนื่องจาก มีความหมายสื่อถึง “การแบ่งแยกดินแดนและการบ่อนทำลาย” ซึ่งรวมถึง “การเรียกร้องเอกราช” “การแบ่งแยกตัวจากแผ่นดินใหญ่” และ “การเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของเขตบริหารพิเศษฮ่องกง”.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES, REUTERS