นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ตามที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม มอบหมายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทำหน้าที่สนับสนุนและช่วยเหลือในการลดค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้แก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รฟท. โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่า รฟท. ได้มีการดำเนินโครงการช่วยเหลือลดค่าครองชีพแก่เจ้าหน้าที่ พนักงาน รฟท. และประชาชนบริเวณใกล้เคียงอย่างต่อเนื่อง โดยเดินหน้าสานต่อโครงการต้นแบบสถานี/ซุ้มสวยงาม พืชผักกินได้ ประจำปี 65 เพื่อเร่งเพิ่มจำนวนสถานี/ซุ้มสวยงามพืชผักกินได้ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

นายเอกรัช กล่าวต่อว่า โครงการต้นแบบสถานี/ซุ้มสวยงาม พืชผักกินได้ ได้เริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ปี 60 และในปี 65 เป็นการจัดกิจกรรมต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 ซึ่งถึงปัจจุบันมีสถานีและซุ้มเครื่องกั้นถนนเข้าร่วมโครงการแล้ว 31 สถานี และซุ้มกั้นถนนอีก 28 ซุ้ม โดยในอนาคตการ รฟท. ตั้งเป้าหมายเร่งขยายโครงการให้ครอบคลุมทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามสำหรับโครงการต้นแบบสถานี/ซุ้มสวยงาม พืชผักกินได้ รฟท. จัดทำขึ้นตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานประจำสถานีรถไฟทั่วประเทศ ใช้เวลาว่างหลังจากการปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดประโยชน์ และใช้พื้นที่ว่างเปล่าบริเวณสถานีรถไฟและซุ้มเครื่องกั้นถนนมาทำประโยชน์โดยการเพาะปลูกพืชผักสวนครัว และผลไม้ปลอดสารพิษ

เช่น ผักบุ้ง ผักกาด กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ มะเขือ มะนาว แตงกวา เห็ด รวมถึงกล้วย มะละกอ ข้าวโพด และฟักทอง ตลอดจน พืชสมุนไพร เช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด และฟ้าทะลายโจร เพื่อนำผลผลิตที่ได้ไปใช้บริโภคภายในครัวเรือน รวมทั้งแจกจ่ายให้แก่ประชาชน สถานศึกษา และชุมชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียงสถานีรถไฟ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ค่าครองชีพให้แก่พนักงาน ลูกจ้าง รฟท. และประชาชน รวมถึงยังเป็นการเสริมสร้างความสมัครสมานสามัคคีระหว่าง รฟท. และชุมชนอีกด้วย

นายเอกรัช กล่าวด้วยว่า โครงการต้นแบบสถานี/ซุ้มสวยงาม พืชผักกินได้ ได้รับผลตอบรับที่ดี และประสบความสำเร็จมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนสถานีรถไฟ และซุ้มกั้นถนนที่เข้าร่วมโครงการมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี อีกทั้งยังกลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับประชาชน เยาวชนและชุมชนใกล้เคียง ที่สำคัญในช่วงที่สถานการณ์โควิดแพร่ระบาด รฟท. ยังส่งมอบความช่วยเหลือนำผลผลิตไปแจกจ่าย ให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด ตามสถานที่กักตัว และนำไปประกอบอาหารช่วยเหลือประชาชน สถานศึกษา ตลอดจนนำสมุนไพรที่ปลูกได้ เช่น ยาฟ้าทลายโจร ขิง ไปแจกจ่ายให้แก่พี่น้องชาว รฟท. และประชาชน เพื่อช่วยบรรเทารักษาจากการติดเชื้อโควิด-19 ได้อีกด้วย.