ตามที่มีกระแสข่าวว่าธนาคารกสิกรไทย ได้ร่วมลงทุนกับไบแนนซ์​ (Binance) แพลตฟอร์มซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล​ (Exchange)​ ที่มีมูลค่าซื้อขายมากที่สุดในโลก เตรียมจัดตั้ง Exchange สินทรัพย์ดิจิทัลในไทย ซึ่งเป็นไปตามทิศทางที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งและภาคธุรกิจอื่น ๆ ดำเนินการ และยังหลังจากไบแนนซ์ ได้จับมือกับ​ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF จัดตั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลในไทยเช่นกัน

วันที่ 19 ม.ค. ธนาคารกสิกรไทย ได้ชี้แจงในเวลาต่อมาว่า ธนาคารกสิกรไทยไม่ได้เป็นผู้ออกข่าวเรื่องการจัดตั้ง Exchange ร่วมกับ Binance ดังกล่าว โดยยอมรับว่าธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายเงินดิจิทัลกำลังเป็นที่สนใจของบริษัทต่าง ๆ และธนาคารหลายแห่ง รวมทั้งธนาคารกสิกรไทยก็ให้ความสนใจศึกษาทางเลือกต่าง ๆ เช่นกัน

อย่างไรก็ตามในขณะนี้ ธนาคารยังไม่มีข้อสรุปเรื่องการทำธุรกิจ Exchange สินทรัพย์ดิจิทัล และหากมีผลสรุปแล้ว ธนาคารกสิกรไทยจะแจ้งความคืบหน้าให้ทราบต่อไป

ด้าน ธนาคารไทยพาณิชย์ โดย​ บล.ไทยพาณิชย์​ (SCBS) ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์​ (ก.ล.ต.) จำนวน 2 ใบอนุญาต ได้แก่ 1.ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ทั้งประเภทคริปโตเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล แต่ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ และ 2.ใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล ในประเภทคริปโตเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล ซึ่งยังไม่ได้เริ่มประกอบธุรกิจเช่นเดียวกัน

ขณะที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ได้เข้าลงทุนซิปเม็กซ์ แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในไทย โดยลงทุนผ่านกรุงศรี ฟินโนเวต ร่วมกับ​ บมจ.แพลน บี มีเดีย และ​ บมจ.มาสเตอร์ แอด ปิดระดมทุนรอบซีรีส์บีของซิปเม็กซ์ด้วยเงินลงทุน 41 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 1,330 ล้านบาท

ขณะเดียวกันธนาคารกรุงเทพมีความสนใจที่จะทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัลเช่นเดียวกัน โดยในปัจจุบันธนาคารกรุงเทพอยู่ระหว่างหารือกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย​ (ธปท.) ว่ามีแนวทางเรื่องนี้อย่างไร และอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งบริษัทลูก หรือ การเข้าไปร่วมลงทุนกับบริษัทอื่น ๆ แต่คงไม่ถึงกับปรับโครงสร้างธุรกิจเหมือนกับธนาคารพาณิชย์บางแห่ง

ทำให้ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามว่า ธนาคารพาณิชย์ จะเดินหน้าทำธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล และพัฒนาเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างไร เช่น บล็อกเชน, คริปโต, NFT และ Metaverse เพื่อรับกระแสโลกดิจิทัลในอนาคต