เมื่อวันที่ 20 ม.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงผลการประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานว่า ศบค.เห็นชอบปรับรูปแบบ และลดวันกักตัวสำหรับผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงกับผู้ติดเชื้อจากเดิม 10 วัน เป็นกักตัว 7 วัน สังเกตอาการอีก 3 วัน ตรวจหาเชื้อด้วย ATK โดยการตรวจสอบอาการป่วยของตนเองทุกวัน ตรวจ ATK ครั้งที่ 1 ในวันที่ 5 หรือวันที่ 6 หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้ายและสังเกตอาการอีก 3 วัน สามารถออกนอกพื้นที่ได้ ไปทำงานได้ แต่ให้เลี่ยงการเดินทางด้วยรถสาธารณะ หรือเข้าพื้นที่แออัด ป้องกันตัวเองสูงสุด และตรวจหาเชื้อด้วย ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 หลังจากสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวต่อว่า สำหรับการปรับมาตรการป้องกันควบคุม โควิด-19 ในส่วนการเดินทางเข้าราชอาณาจักร ศบค.เห็นชอบการปรับมาตรการสำหรับคนไทยและชาวต่างชาติมีรายละเอียดดังนี้

(1) ระบบไม่กักตัว (Test and Go) เริ่ม 1 ก.พ.2565 อนุญาตให้เข้ามาได้ทุกประเทศ ปรับการตรวจหาเชื้อโดยวิธี RT-PCR 2 ครั้ง มีหลักฐานการจองโรงแรมที่พักในวันแรกและในวันที่ 5 โดยเป็นโรงแรมที่มีโรงพยาบาลคู่สัญญา (SHA++AQ OQ หรือ AHQ) รวมถึงมีหลักฐานชำระเงินการตรวจหาเชื้อจำนวน 2 ครั้ง จัดระบบการตรวจสอบและกำกับการเข้าที่พักและตรวจหาเชื้อให้ครบสองทางโดยต้องรออยู่ในห้องพัก หรือสถานที่ที่กำหนดจนกว่าจะได้รับผลการตรวจ และกำหนดระบบประกันให้ชัดเจนกรณีประกันไม่ครอบคลุมผู้เดินทางจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด

(2) ระบบการเปิดรับผู้เดินทางเข้าราชอาณาจักรในรูปแบบพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (Sandbox)เพิ่มเติม เปิดให้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.เป็นต้นไป จังหวัดชลบุรี (อำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และอำเภอสัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียน ตำบลบางเสร่) จังหวัดตราด (เกาะช้าง) และการเปิดพื้นที่ให้เดินทางเชื่อมโยงในกลุ่มพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กระบี่พังงา สุราษฎร์ (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) ในช่วง 7 วันที่ต้องพำนักในพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยวและการตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง ในวันที่ 0-1 และวันที่ 5-6 รวมถึงมีระบบการตรวจสอบ และกํากับการเข้า-ออกโรงแรมทุกวัน เป็นเวลา 7 วันในพื้นที่ นําร่องการท่องเที่ยว หรือในกลุ่มจังหวัด โดยไม่เกิน 3 โรงแรม

“ผอ.ศบค.เน้นย้ำว่าต้องมีระบบตรวจสอบย้อนกลับให้ได้ในนักท่องเที่ยวทุกคนที่เดินทางเข้ามา หลายประเทศและยกเลิกมาตรการดังกล่าวไปแล้วพอสมควรถึงว่าประเทศไทยถือว่าอยู่ในระดับกลาง เพื่อพยายามให้มีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเพราะคนไทย นักเรียน นักศึกษายังคงต้องการกลับมายังประเทศไทย ซึ่งถือว่าระบบดังกล่าวยังมีความสำคัญ เนื่องจากถือเป็นแหล่งรายได้ทั้งตลาดในประเทศประมาณ 137,712 ล้านบาท และตลาดต่างประเทศ 26,065 ล้านบาท” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว.