เมื่อวันที่ 21 ม.ค. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย (มท.1) ฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 30 ม.ค. – 1 ก.พ. 65 เป็นช่วงวันตรุษจีน ซึ่งตามประเพณีปฏิบัติของชาวไทยเชื้อสายจีน จะมีการจุดธูปเทียนบูชาเซ่นไหว้ เผากระดาษเงิน กระดาษทอง จุดพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง ที่อาจเป็นสาเหตุการเกิดอัคคีภัย รวมถึงอุบัติภัยขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้ ในช่วงวันตรุษจีนยังเป็นช่วงวันหยุดพักผ่อนของชาวไทยเชื้อสายจีน จึงมักจะมีการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ อาจส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจากการจราจรทั้งทางบก และทางน้ำ สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งเป็นเทศกาลที่อาจมีคนมารวมตัวกันและทำกิจกรรมเป็นจำนวนมาก  
     
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากอัคคีภัยและอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อป้องกันและสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงวันตรุษจีน จึงได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดในฐานะผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ดำเนินการด้านเตรียมความพร้อม โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในพื้นที่สำรวจ ตรวจสอบ และปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยให้เป็นปัจจุบัน ซักซ้อมการปฏิบัติงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เกิดความชัดเจน พร้อมกำชับให้ผู้อำนวยการและเจ้าพนักงานตามกฎหมาย เข้มงวดตรวจตราอาคารสถานที่ โป๊ะ ท่าเทียบเรือโดยสาร หากพบมีสภาพไม่มั่นคง แข็งแรง ให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าซ่อมแซม และเตรียมความพร้อมบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง 
     
“ให้จัดกำลังเจ้าหน้าที่ และเจ้าพนักงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวัง ตรวจตรา อาคารบ้านเรือน พื้นที่ชุมชน สถานประกอบการ และสถานบริการ โดยเฉพาะสถานที่ที่มีการจัดงาน และมีการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง ในการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัด และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนลดกิจกรรมการเผาทุกชนิดในช่วงวันตรุษจีน เพื่อลดการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) และอันตรายจากอัคคีภัยที่มีสาเหตุจากการจุดธูปเทียนบูชา เซ่นไหว้ เผากระดาษเงิน กระดาษทอง การจุดประทัดตามสถานที่ต่างๆ เพื่อป้องกันและระงับอัคคีภัย” พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว 
    
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงการดำเนินการในด้านการเผชิญเหตุ โดยให้จัดชุดเจ้าหน้าที่ และสั่งใช้สมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) บูรณาการกำลังร่วมกับหน่วยราชการ ทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจ อปท. และเชิญชวนประชาชนจิตอาสา เฝ้าระวังสถานที่ และกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย เช่น การจุดประทัด ดอกไม้เพลิง รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดอุบัติภัยอื่นๆ และจัดหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง อุปกรณ์กู้ภัย ไฟฟ้าส่องสว่าง ประจำในพื้นที่หรือชุมชนที่มีความเสี่ยงภัย เพื่อเฝ้าระวังเหตุ โดยต้องพร้อมปฏิบัติงานได้ทันที สำหรับพื้นที่ที่มีการจัดงานวันตรุษจีน และสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้จัดระเบียบการจราจร และอำนวยความสะดวกด้านการจราจร เฝ้าระวังความปลอดภัยบริเวณที่มีประชาชนหนาแน่น หากเกิดอัคคีภัย อุบัติภัยหรือสาธารณภัยอื่นที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ให้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และรายงานให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางทราบทันที 
     
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวด้วยว่า เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยยังคงอยู่ในช่วงการเฝ้าระวัง และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จึงให้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขโดยเคร่งครัด โดยเฉพาะพื้นที่และสถานที่ที่มีความเสี่ยงในช่วงเทศกาลตรุษจีน ในสถานที่ ได้แก่ ร้านอาหาร ตลาด ศาลเจ้า หรือสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มเครือญาติ โดยยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 สำหรับการจัดกิจกรรมในช่วงเทศกาลตรุษจีนตามมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กร ช่วงวันที่ 28 ม.ค. – 3 ก.พ. 65 และรณรงค์ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค DMHTTA ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างน้อย 2 เมตร การสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา การล้างมือด้วยน้ำสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ การหมั่นตรวจเช็กอุณหภูมิร่างกาย การหมั่นตรวจหาเชื้อ COVID-19 และใช้แอพพลิเคชั่นไทยชนะเมื่อไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อจะได้เฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลตรุษจีน ตามชีวิตวิถีใหม่ New Normal ต่อไป.