เมื่อวันที่  21 ม.ค. พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ประธานคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา มอบหมายให้ นายจิรชัย มูลทองโร่ย โฆษกคณะกรรมาธิการ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการธิการแรงงาน วุฒิสภา เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินการบริหารจัดการด้านแรงงานในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และศึกษาดูงาน การบูรณาการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ จังหวัดเชียงราย โดยมี นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ อนุกรรมาธิการ คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ร่วมคณะ  

นายจิรชัย กล่าวว่า คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงานฯ มีภารกิจหลักในการติดตามการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศ (ด้านแรงงาน) ซึ่งในวันนี้ตนได้นำคณะอนุกรรมาธิการฯ เข้าพบนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวสถานการณ์ทั่วไปด้านแรงงานและการบูรณาการส่งเสริม เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้สูงอายุของส่วนราชการในพื้นที่จังหวัดเชียงราย จากนั้นเข้าพบผู้บริหารสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดเชียงราย ณ จุดผ่านแดนถาวรแม่สาย ซึ่งเป็นสถานที่กักแรงงานต่างด้าว ที่ถูกดำเนินคดีฐานลักลอบเข้าเมืองและรอการส่งกลับ เพื่อรับฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินงานในภาพรวมและการสกัดกั้นการเดินทางเข้าออกของแรงงานต่างด้าว จากสถานการณ์โควิด-19 และในวันวันที่ 22 ม.ค.นี้ จะได้เดินทางไปศึกษาดูงานและเยี่ยมชมโรงเรียนผู้สูงอายุวัดหัวฝาย เพื่อดูการวางแผนกระบวนการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้แก่ผู้สูงอายุ โดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น ความเชื่อ ความศรัทธา และสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในปัจจุบัน

พล.ต.อ.อดุลย์ ได้รับทราบความเดือดร้อนของภาคแรงงานจากผลกระทบโควิด-19 และท่านมีความห่วงใยผู้รับกระทบต่อสถานการณ์ดังกล่าว ในวันนี้จึงให้คณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านแรงงาน ในคณะกรรมาธิการการแรงงาน วุฒิสภา ลงพื้นที่เพื่อรับฟังสภาพปัญหา ข้อเสนอแนะ และติดตามแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาภาคแรงงานจากผลกระทบโควิด-19 รวมทั้งการส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางในพื้นที่ ตลอดจนการติดตามการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ด่านชายแดนแม่สาย จ.เชียงราย เพื่อให้เป็นไปตามมาตรการที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานแก่ผู้ประกอบการ แรงงานที่เข้ามาถูกกฎหมายป้องกันการนำเชื้อเข้ามา ที่สำคัญจะทำให้ช่วยฟื้นเศรษฐกิจการค้า การลงทุนตามแนวชายแดนให้แก่จังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงอีกด้วย

ด้านนายฉัตรชัย พัฒนานุภาพ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการรายย่อยในจังหวัดเชียงรายได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก การที่ภาครัฐมีโครงการที่ออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการจังหวัดเชียงราย ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการใน SMEs ซึ่งผมคิดว่าสามารถช่วยเหลือได้มาก อย่างน้อยเราสามารถที่จะคงอัตราการจ้างงานโดยการช่วยเหลือด้านการสมทบร่วมจ่ายของทางภาครัฐในระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งหากผู้ประกอบการที่ได้ทราบข้อมูลสามารถเข้าร่วมกับโครงการนี้ได้ ซึ่งเราเจอปัญหามาตลอดระยะเวลา 2 ปี เรายังถือว่าปัญหายังไม่หมดไป ตอนนี้ยังอยู่ในสภาวะเริ่มฟื้นตัว แต่หากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น SMEs ก็ยังคงต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากรัฐบาลจะพิจารณาขยายระยะเวลาการช่วยเหลือเพิ่มอีก 3 เดือน ก็จะเกิดประโยชน์กับผู้ประกอบการ แรงงาน ทำให้ผู้ประกอบการคงอัตราการจ้างงาน แรงงานก็จะสามารถรักษาตำแหน่งงานของตัวเองไว้ได้ สุดท้ายนี้ ขอบคุณรัฐบาลที่ได้ช่วยเหลือผู้ประกอบการผ่านโครงการนี้ ซึ่งทางผู้ประกอบการได้รับประโยชน์มาก ยังรวมถึงแรงทุกคนด้วย ถือว่าเป็นการช่วยเหลือที่ถูกทาง ทำให้ SMEs สามารถฟื้นตัวและสามารถดำเนินต่อไปได้

สำหรับสถานการณ์ด้านแรงงานจังหวัดเชียงรายปัจจุบันมีกำลังแรงงาน 577,440 คน เป็นผู้มีงานทำ 564,320 คน ผู้ว่างงาน 12,707 คน มีแรงงานนอกระบบ 417,080 คน มีสถานประกอบกิจการในระบบประกันสังคม 6,683 แห่ง ผู้ประกันตน 147,240 คน มีผู้สูงอายุ 250,712 คน มีคนพิการ 42,457 คนมีแรงงานต่างด้าว 28,476 คน ในช่วงโควิด-19 ได้จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยแก่สถานประกอบการที่รัฐสั่งปิด จำนวน 2,552 แห่ง เป็นเงิน 8,528,369.30 บาท นอกจากนี้ ยังช่วยเหลือผู้ประกอบการจากโครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงานในธุรกิจ SMEs แก่ผู้ประกอบการ 3,011 ราย ซึ่งสามารถช่วยรักษาการจ้างงานแก่ลูกจ้างได้ถึง 27,820 คนอีกด้วย.