เมื่อเวลา 21.00 น. วันที่ 18 ก.ค. ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. ,พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ โฆษก ตร. และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมเยาวชนปลดแอก และเครือข่ายอื่นๆ เมื่อช่วงเย็นที่ผ่านมา

พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวว่า การชุมนุมในวันนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ การดำเนินการของตำรวจมีการใช้กำลังจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) 14 กองร้อย จากกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) 4 กองร้อย โดยกฏหมายที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เป็นหลักในวันนี้คือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 คือห้ามการจัดกิจกรรมร่วมกลุ่มของคนที่มีคนรวมกันมากกว่า 5 คน ด้วยเหตุผลนี้การแจ้งการชุมนุมตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ คงไม่สามารถนำมาใช้ในห้วงเวลานี้ได้ เพื่อเหตุผลในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19

พล.ต.ต.ยิ่งยศ กล่าวต่อว่าการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันนี้ ตั้งแต่เริ่มดำเนินการจนสิ้นสุด เป็นไปตามขั้นตอนการควบคุมฝูงชนตามกฏหมายและตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง ทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฏหมายขั้นต้นพร้อมไปกับการระงับยับยั้งฝูงชนไม่ให้ทำลายทรัพย์สินของทางราชการและสถานที่ราชการ สำหรับการดำเนินการ

ด้าน พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวว่า กรณีที่มีการนัดหมายชุมนุมของกลุ่มราษฎร ,กลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) และกลุ่มภาคีเครือข่ายแนวร่วมต่างๆ “#ม็อบ 18 กรกฎา” ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 โดยเริ่มมีการชุมนุมตั้งเวลา 10.00 น. จนกระทั่งเวลา 12.20 กลุ่มเยาวชนปลดแอกได้มีการตั้งรถเครื่องเสียงและมีการรวมตัวกัน เวลา 13.00 น. ผกก.สน.สำราญราษฎร์ ได้ประกาศให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมเนื่องจากการชุมนุมดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่ผิดกฏหมาย เวลา 13.10 น. กลุ่มมวลชนได้รวมตัวกันบริเวณผิวจราจร จากนั้นได้นำรถยนต์และรถจักรยานยนต์ปิดการจราจรบริเวณถนนราชดำเนิน และมีการตั้งขบวนเพื่อเดินทางไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล

เวลา 13.50 น. กลุ่มมวลชนเริ่มออกเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมาหยุดที่บริเวณแยกผ่านฟ้า เวลา 15.30 น. ผกก.สน.นางเลิ้งได้ประกาศเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมให้ยุติการดำเนินกิจกรรม 15.40 กลุ่มผู้ชุมนุมเริ่มมีการขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ และทำลายทรัพย์สินของทางราชการ จากนั้นได้มีการจุดพลุไฟและเผาสิ่งต่างๆบริเวณรอบสะพานผ่านฟ้า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศเตือนกลุ่มผู้ชุมนุมอีกครั้งแต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความจำเป็นที่จะใช้การฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา และกระสุนยางกับกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อป้องการการเสียหายที่อาจจะลุกลามได้มากกว่านี้ ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการกระทำชั่วคราวก่อนเคลื่อนขบวนไปรวมตัวกันยังสะพานชมัยมรุเชษฐ์ โดยใช้เส้นทางถนนนครสวรรค์ เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนพิษณุโลก และหยุดรวมตัวกันบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์

รอง ผบช.น.กล่าวอีกว่า ต่อมา เวลา 17.09 น. นายอานนท์ นำภา ได้ประกาศให้กลุ่มมวลชนไปรวมตัวกันที่เชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์เพื่อเตรียมการปะทะกับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน เวลา 17.30 น. กลุ่มการ์ดวีโว่ และมวลชนบางส่วนได้พยายามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเข้าไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล เจ้าหน้าที่จึงทำการฉีดน้ำและใช้แก๊สน้ำตา ต่อมาเวลา 17.40 น. แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศให้ผู้ชุมนุมมารวมตัวกันบริเวณแยกนางเลิ้ง จากนั้นเวลา 18.20 กลุ่มผู้ชุมนุมได้เผาหุ่นจำลองบริเวณแยกนางเลิ้ง 18.35 น. กลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศยุติการชุมนุม แต่ยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนไม่ยอมกลับ และยังคงปักหลักบริเวณแยกนางเลิ้ง และมีการเผาหุ่นฟาง และสิ่งต่างๆรอบแยกนางเลิ้ง โดยหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมจัวผู้ก่อเหตุได้ 13 ราย มีตำรวจ คฝ. ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ 8 ราย และยังรักษาดูอาการที่ รพ.ตำรวจ 6 ราย

พล.ต.ต.ปิยะ ระบุว่า กรณีที่มีสื่อมวลชนถูกลูกหลงกระสุนยางของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั้น เบื้องต้น ทางกองบัญชาการตำรวจนครบาลต้องขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จากการพูดคุยกับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บทราบว่ากระสุนยางพลาดไปโดนที่แขนซ้าย ซึ่งขณะนี้ตัวของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บได้กลับไปพักรักษาตัวที่บ้านแล้ว

พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวด้วยว่า ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุมที่ยังไม่ยอมกลับหลังจากประกาศยุติการชุมนุมแล้ว ทาง สน.ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายต่อไป ซึ่งจะมีความผิดข้อหา ร่วมชุมนุมโดยผิดกฎหมาย และ ฝ่าฝืนออกนอกเคหสถานในเวลา 21.00-04.00 น. ทั้งนี้การกระทำของผู้ชุมนุม เป็นการรวมกลุ่มที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ซึ่งรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน กระทำการให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และกระทบต่อการใช้รถใช้ถนนของประชาชน ในส่วนของการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ที่ถูกจับกุมนั้น จะมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 27, ประกาศกรุงเทพมหานคร ฉบับที่ 36 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ, พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งหมด (ข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ และทำให้เสียทรัพย์)