เมื่อช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นการจัดเก็บภาษีจากการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล  หรือคริปโตเคอเรนซีเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ซึ่งปัจจุบัน ในหลายๆ ประเทศก็มีการจัดเก็บภาษีคริปโตเช่นกัน อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ฮ่องกง สิงคโปร์ โดยนอกจากเป็นประเด็นรายได้ทางการคลังและการดูแลตรวจสอบธุรกรรมแล้ว ก็ยังมีมิติของการเพิ่มความเป็นธรรมในระบบด้วย เนื่องจากนักลงทุนที่ลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงิน โดยเฉพาะหลักทรัพย์รวมถึงคริปโตมักมีโปรไฟล์และลักษณะที่แตกต่างจากกลุ่มที่ฝากเงิน ทั้งการศึกษา ความรู้ การยอมรับความเสี่ยง และอาจรวมถึงสถานะทางการเงินที่อาจจะดีกว่า

“ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ได้มีมุมมองการจัดเก็บภาษีคริปโต โดยระบุว่า หลักๆ ผู้ลงทุน ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ขายคริปโต จะต้องนำรายได้ในส่วนที่เป็นกำไรจากทุกๆ ธุรกรรมมาเสียภาษีเงินได้อันมาจากผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโต หรือโทเคนดิจิทัล ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน (มาตรา 40(4)(ฌ))

ขณะที่ผู้ซื้อคริปโต ซึ่งจะอยู่ในฐานะผู้จ่ายเงินได้ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ของกำไรของผู้ขายคริปโตนั้น นั่นเท่ากับว่าหากนักลงทุนได้กำไรจากการขายคริปโตในแต่ละครั้ง ก็จะต้องจ่ายภาษีสองต่อ นั่นคือ ภาษี ณ ที่จ่ายที่ 15% และนำกำไรที่ได้ในแต่ละครั้งมาคิดรวมเป็นเงินได้เพื่อจ่ายภาษีเงินได้พึงประเมินรายปีตามมาตราข้างต้น ส่วนในธุรกรรมที่ขาดทุนก็จะไม่ถูกเก็บภาษี และไม่สามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับส่วนกำไร

*ภาษีคริปโตในไทยเริ่มใช้เมื่อไร*

แท้จริงแล้ว กฎหมายการจ่ายภาษีจากการลงทุนในคริปโตในไทยมีมาตั้งแต่ปี 2561 ด้วยเจตนาที่ต้องการขยายฐานภาษีประเภทใหม่ๆ ดังเช่นการศึกษาการขยายฐานภาษีตามแนวทางอื่นๆ เช่นกัน แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว ปริมาณธุรกรรมการซื้อขายคริปโตในไทยอาจยังมีไม่มากนัก

แต่ในช่วงปี 2563 – 2564 ที่ผ่านมา ตลาดคริปโตในไทยคึกคักเป็นอย่างมาก ตามเทรนด์ราคาที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา มีจำนวนบัญชีผู้ลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่ที่ 1,979,847 บัญชี เติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับช่วงต้นปีที่มีจำนวนบัญชีอยู่เพียงหลักหมื่นบัญชี  แสดงให้เห็นว่ามีนักลงทุนรายใหม่ๆ เข้ามาในตลาดอย่างต่อเนื่อง

ในขณะที่ภาษีคริปโตก็ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ของนักลงทุน การชี้แจงหลักเกณฑ์ในการเสียภาษีอย่างชัดเจน รวมถึงการประชาสัมพันธ์ข้อปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอย่างต่อเนื่องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น เพื่อทำความเข้าใจกับนักลงทุนในการถือปฏิบัติร่วมกัน

*สรรพากรเปิดรับฟังความเห็น*

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ทางกรมสรรพากรได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องถึงหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีคริปโตที่อาจมีข้อจำกัดหรือเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ  อย่างเช่น ผู้ซื้อคริปโตอาจไม่สามารถทราบถึงส่วนกำไรที่ได้จากการขาย หากไม่ได้มีการบันทึกที่ดีพอ โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นกำไรที่ได้มาจากการขุดคริปโต จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายจากส่วนกำไรของผู้ขาย

ส่วนศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในปัจจุบันก็ยังมีข้อจำกัดในการหักภาษี ณ ที่จ่าย รวมถึงการจัดเก็บและส่งข้อมูลไปยังกรมสรรพากร ซึ่งคณะทำงานคงกำลังอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหาและหาทางออกร่วมกันในทางปฏิบัติ โดยคาดว่าจะได้แนวทางที่ชัดเจนขึ้นภายในเดือนมกราคม 2565

*แนวทางภาษีคริปโตในต่างประเทศ*

หากพิจารณาหลักการจัดเก็บภาษีคริปโตในต่างประเทศ ก็จะพบว่าในแต่ละประเทศมีการจัดเก็บภาษีสำหรับการลงทุนคริปโตแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับบริบทของความจำเป็นด้านสถานะทางการคลัง ทิศทางการพัฒนาตลาดสินทรัพย์ทางการเงินใหม่ๆ ของภาครัฐ และความพร้อมของนักลงทุนในประเทศ โดยบางประเทศจะมีการยกเว้นภาษีให้แก่นักลงทุนคริปโต เช่น สวิตเซอร์แลนด์ และโปรตุเกส ขณะที่บางประเทศจะมีการยกเว้นภาษีคริปโตในกรณีที่มีการลงทุนในระยะยาว อย่างเช่น ฮ่องกง และสิงคโปร์

ส่วนสหรัฐอเมริกาจะมีการจัดเก็บภาษีคริปโตในอัตราเดียวกันกับหลักทรัพย์ทางการเงินอื่นๆ อย่างหุ้น โดยหากลงทุนในระยะยาว จะเสียภาษีที่ 0 – 20% และหากลงทุนในระยะสั้น จะเสียภาษีที่ 10 – 37% และสามารถนำผลขาดทุนมาหักลบกับรายได้พึงประเมินที่ใช้คำนวณภาษีเงินได้ ในกรณีที่ไม่มีเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบัน ทางการหลายประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับคริปโต ต่างๆ ดังนั้น แนวทางการจัดเก็บภาษีข้างต้น รวมถึงการควบคุมดูแลอื่นๆ จึงยังมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้อีกในอนาคต

*ส่งเสริมความรู้นักลงทุน*

การที่คริปโตยังคงเป็นสินทรัพย์ใหม่ที่มีความผันผวนในระดับสูง อีกทั้ง ยังมักถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำผิดกฎหมาย ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่อาจจะยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับคริปโตที่มากพอ ส่งผลให้นักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดต่างมุ่งหวังผลตอบแทนที่ได้จากการเก็งกำไรระยะสั้น และอาจถูกหลอกให้ลงทุนอย่างผิดกฎหมายได้

ขณะเดียวกันพฤติกรรมการเก็งกำไรระยะสั้นดังกล่าว อาจไม่สามารถสนับสนุนการต่อยอดไปสู่การสนับสนุนผู้ประกอบการให้พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ที่มีประโยชน์มากกว่าในระยะยาว ดังนั้น จึงทำให้หน่วยงานทางการในหลายๆ ประเทศ รวมถึงไทย มีความกังวลถึงความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้น ทั้งต่อตัวนักลงทุนและตลาดสินทรัพย์ทางการเงินต่างๆ โดยภาพรวม

ซึ่งระดับความรู้ความเข้าใจด้านคริปโตของนักลงทุน ก็น่าจะยังคงเป็นประเด็นหลักที่จะสร้างความกังวลต่อทางการอย่างมีนัยสำคัญ และน่าจะถูกใช้เป็นหนึ่งในแนวทางในการคิดหลักเกณฑ์ในการกำกับดูแลการลงทุนในระยะข้างหน้า

*ผลสำรวจเกี่ยวกับคริปโตของคนไทย*

สำหรับในประเทศไทย จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า นักลงทุนไทยที่ลงทุนในคริปโตส่วนใหญ่กว่า 50% ประเมินตัวเองว่ามีความรู้ทางด้านคริปโตในระดับปานกลางเท่านั้น ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่ราว 18.2% ให้เหตุผลหลักในการลงทุนคริปโตถึงความเชื่อมั่นว่าราคาจะขึ้นไปเรื่อยๆ และคาดหวังว่าจะได้รับผลตอบแทนสูง อีกทั้ง นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ราว 43% ตั้งใจจะเพิ่มการลงทุนในคริปโตเป็นอันดับหนึ่งในปี 2565

สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในตลาดคริปโต ถึงแม้ว่าจะมีความรู้เกี่ยวกับคริปโตในระดับที่ไม่สูงมากนัก ดังนั้น ทิศทางของเกณฑ์การกำกับดูแลตลาดคริปโตในระยะข้างหน้า รวมไปถึงเกณฑ์การจัดเก็บภาษี อาจต้องพิจารณาถึงประเด็นระดับความรู้ของนักลงทุนควบคู่กันไปด้วย

คำถามที่สำคัญกว่าคงเป็น…กฎกติกาในภาพรวมควรเป็นอย่างไร เพื่อเล็งผลเลิศที่ดีขึ้นกับการพัฒนาตลาดสินทรัพย์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ในระยะข้างหน้า ให้มีความเหมาะสมกับความพร้อมของนักลงทุนและเงื่อนไขเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป