กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทำเอา “อุณหภูมิทางการเมือง” พุ่งปรี๊ดร้อนระอุ ขึ้นมาทันทีทันใด เมื่อรอยร้าวภายในพรรคพลังประชารัฐ ลุกลามบานปลายจนถึงจุดแตกหัก และยังคงเกิด “อาฟเตอร์ช็อกทางการเมือง” ลุกลามบานปลายอย่างต่อเนื่อง จนสร้างแรงสั่นสะเทือนบัลลังก์อำนาจของรัฐบาล!

โดยเค้าลางของจุดแตกหักในครั้งนี้ ถูกกระตุ้นให้ร้อนแรงมากขึ้น ภายหลังการเดินเกม “รุกฆาต” ของ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ที่มีการตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในราคาเกินกว่าที่กำหนดในสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งพุ่งเป้าทะลวงรื้อโควตาสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ถือเป็นขุมทรัพย์สำคัญของ “ผู้กองธรรมนัส” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ตามด้วยการส่งสัญญาณที่ต้องการให้ลาออกจากเลขาธิการพรรค และลาออกจากพรรค ซึ่งเป็นเหมือนการปล่อยหมัดฮุกเข้าใส่ “ผู้กองธรรมนัส” อย่างจัง

ประจวบเหมาะกับการพ่ายแพ้ในศึกเลือกตั้งซ่อม ชุมพร และสงขลา จนทำเอา “เสี่ยเฮ้ง” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และกรรมการบริหารพรรค เสนอให้ทำโพลว่าพรรคพลังประชารัฐตกต่ำเพราะ “ผู้กองธรรมนัส” หรือไม่ ซึ่งก็กลายเป็นโอกาสทองให้ “ผู้กองธรรมนัส” พลิกเกมกลับ โดยเอา ส.ส. 20 เสียง มาขู่ออกจากพรรค และต่องรองตำแหน่งรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง แต่ถ้าไม่มีการปรับ ครม.ทันที กลุ่ม ส.ส.ดังกล่าวจะไม่เป็นองค์ประชุมในสภาให้รัฐบาล

ซึ่งการพลิกเกมครั้งนี้ ก็ทำเอา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคเรียกประชุม ส.ส.และกรรมการบริการพรรคเป็นการด่วน ขณะที่ “ผู้กองธรรมนัส” ก็เดินเกมล็อบบี้โน้มน้าว ส.ส.แต่ละคน เพื่อให้ลงมติขับออกจากพรรค ขณะที่ “บิ๊กป้อม” ก็แสดงท่าทีชัดเจนต่อ ส.ส.ว่าต้องการให้ทำตามความต้องการของ “ผู้กองธรรมนัส” ด้วยคำพูดว่า “มันจะออกก็ออกๆไป พรรคจะได้สงบ”

จนสุดท้ายกรรมการบริหารพรรคและ ส.ส.พรรคทั้งหมด 78 เสียง มีมติขับ ร.อ.ธรรมนัส และพวกรวมทั้งหมด 21 คน ในข้อหาสร้างความขัดแย้งภายในพรรค

และทันที่ทีมีมติขับกลุ่ม ส.ส.ดังกล่าวพ้นพรรคพลังประชารัฐ ก็มีข่าวปล่อยออกมาว่า “ผู้กองธรรมนัส” และ 20 ส.ส. จะไปอยู่ซบปีกพรรคเศรษฐกิจไทย ที่กล่าวอ้างมีชื่อ “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตประธานกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ และ “บิ๊กป๊อด” พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชาย “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อยู่เบื้องหลัง

งานนี้ก็เลยทำให้ใครต่อใครพากันมองว่า คนที่คุมเกมในหมากกระดานอำนาจที่แท้จริงในครั้งนี้ก็คือ “บิ๊กป้อม” ที่เดินเกมแนบเนียนเสียจนทำเอาคนใกล้ชิด “คนในตึกไทยคู่ฟ้า” ถึงกับออกมาเปรยว่า ถูก “ผู้กองธรรมนัส” และ “บิ๊กป้อม” หักหลัง ส่วนความสัมพันธุ์ “พี่น้อง 3 ป.” ก็สะท้อนให้เห็นได้ชัดว่าแตกกันอย่างสิ้นเชิง ความไว้เนื้อเชื่อใจของ “พี่ใหญ่” กับ “น้องเล็ก” ไม่มีให้เห็นอีกแล้ว

ขณะที่ท่าทีของ “บิ๊กตู่” ก็มีการออกมาตั้งการ์ดรับมือเกมการเมือง ด้วยการยืนยันยอมหักไม่ยอมงอ ไม่ปรับครม. ไม่ยุบสภา และยังยืนกรานคนเดิมว่าตัวเองเข้าสู่เส้นทางอำนาจด้วยวิถีทางประชาธิปไตย

เกมการเมืองในบริบทต่อไปจึงเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาดูกันแบบ “ห้ามกะพริบตา” เลยก็ว่าได้ เพราะทุกย่างก้าวของ “รัฐบาลเรือเหล็ก” มีความสุ่มเสี่ยงที่จะอับปางลงได้ทุกวินาที โดยเฉพาะเวทีสำคัญอย่างสภาผู้แทนราษฎร ที่เรียกได้ว่า ทั้ง “บิ๊กตู่” และรัฐบาล มีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปรากฏการณ์ “ตายกลางสภา” มากยิ่งขึ้น

โดยที่ผ่านมาก็จะเห็นได้ชัดว่าสภาวะความมั่นคงของสภาออกอากการลุ่มๆดอนๆ จากเหตุการณ์สภาล่มหลายครั้ง ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 กระทั่งต้นปี 2565 ปัญหาการรักษาองค์ประชุมของ ส.ส.ในสภา ก็ยังเป็นเรื่องที่วิปรัฐบาลแก้ไม่ตก จนต้องปิดประชุมหนีสภาล่มกันตั้งแต่การประชุมสภานัดแรกปีเสือกันเลยทีเดียว

และเมื่อเช็กเสียงขุนพลในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อตัดเสียงของ “ธรรมนัสแอนด์เดอะแก๊ง” ออกไป 20 เสียง ก็ทำให้รัฐบาลเหลือเสียง ส.ส.ในมือจำนวน 247 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านมีจำนวน ส.ส. ในมือ 208 เสียง แม้หากนับนิ้วคำนวณตัวเลขจะเห็นได้ว่ารัฐบาลยังมีแต้มเสียงในสภาทิ้งห่างฝ่ายค้านเกือบ 40 เสียง และแม้จะบวกแต้ม 20 ส.ส.ให้กับฝ่ายค้าน ก็ยังจะมีเสียง ส.ส.ไล่หลังฝ่ายรัฐบาลเกือบ 20 เสียง

แต่งานนี้ฝ่ายรัฐบาลประมาทไม่ได้ และอย่าคิดหวังพึ่งบรรดาเสียงของ ส.ส. พรรคเล็กพรรคน้อยทั้งหลาย เพราะกลุ่มเหล่านี้พร้อมเปลี่ยนท่าทีทางการเมืองได้ตลอดเวลา และล่าสุดมีข่าวลือเรื่องพรรคเล็กบางพรรคเตรียมเก็บกระเป๋าโดดลงเรือลำเดียวกับ “ธรรมนัสแอนด์เดอะแก๊ง” อีกด้วย

ดังนั้นเกมการเมืองในสภาหลังจากนี้ อาจจะมีการขุดหลุมล่อให้ “บิ๊กตู่” ตกหลุมพรางกลางสภาได้ เนื่องจากในสมัยประชุมสภาที่จะมีการพิจารณากฎหมายสำคัญหลายฉบับ โดยเฉพาะกฎหมายเกี่ยวกับด้านการเงิน หากรัฐบาลไม่สามารถเข็นกฎหมายผ่านสภาไปได้ ตามมารยาททางการเมืองแล้ว นายกฯต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก ซึ่งถึงจุดนั้นก็จะกลายเป็นการเปลี่ยนเกมอำนาจทันที

แต่งานนี้ “บิ๊กตู่” อ่านเกมออก พร้อมส่งสัญญาณตั้งรับโดยเร็ว โดยที่ผ่านมามีการส่งขุนพล แม่ทัพนายกกองคนสำคัญ ออกกวาดต้อนไพร่พล ส.ส. จากพรรคต่างๆ ออกมาเป็นกำลังร่วมรบใต้ชายคาพรรคใหม่ เตรียมสู้ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น นำโดย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคีย์แมนเดินเกมสร้างบ้านใหม่ เพื่อรองรับ “บิ๊กตู่” หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง หรือต้องยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่กะทันหัน

แม้หากดูบริบทการเมืองโดยรวมแล้ว ดูเหมือนว่า “บิ๊กตู่” กำลังเป็นฝ่ายที่กำลังเมาหมัด จนต้องถอยฉากเข้ามุม แต่หากถึงคราวเข้าตาจนก็ยังเหลือหมัดเด็ดสุดท้าย หากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นจริง ก็เป็นไปได้ที่ “บิ๊กตู่” จะเลือกใช้ช่องทาง “ยุบสภา” เป็นทางออกเพื่อล้างไพ่เกมอำนาจทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลให้สามารถครองอำนาจต่อไปในฐานะรัฐบาลรักษาการณ์ได้อีกไม่น้อยกว่าครึ่งปี จนกว่าจะมีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลชุดใหม่  

ทั้งนี้ทั้งนั้นจากรอยร้าวที่เกิดขึ้นว่ากันตามเนื้อผ้าแล้ว หลังจากนี้หาก “บิ๊กตู่” ยังคงประคับประคองรัฐบาล ยื้อเวลาไปได้จนถึงเดือน พ.ค. ก็ถือว่าอึดมากแล้ว แต่ก็คงออกอาการหืดขึ้นคอกันเลยทีเดียว แต่หลังจากนั้นอย่าลืมว่ามี “เดดโซน” รออยู่ โดยเฉพาะการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2566 และศึกซักฟอก เวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่ฝ่ายค้านเตรียมรับมีด เช็ดเขียงรอไว้แล้ว ซึ่งการจะฝ่าด่านเดดโซนไปได้คงเลือดตาแทบกระเด็น

ท้ายที่สุดเมื่อมองเกมการเมืองในระยะยาวโดยมีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นจุดหมายปลายทาง การที่ก่อนหน้านี้พรรคเพื่อไทย ประกาศชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์นั้น ในนาทีนี้คงพูดได้ว่าอาจจะเป็นฝันที่ไม่ไกลเกินเอื้อม เพราะหลังจากที่เกิดการแตกหักภายในพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งปรากฏการณ์เลือดไหลของ ส.ส.ชื่อดังหลายคนที่ทิ้งตำแหน่ง ไปเริ่มเส้นทางการเมืองกับพรรคอื่น ก็เป็นเรื่องที่น่าคิดว่าสภาวการณ์ของพรรคพลังประชารัฐจนถึงการเลือกตั้งจะยังสามารถรักษาความเป็น พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ไว้ได้หรือไม่

หากท้ายที่สุดแล้วการแตกหักที่เกิดขึ้นส่งผลให้พรรคพลังประชารัฐกลายเป็นพรรคขนาดกลาง ศึกเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใต้กติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบก็จะเท่ากับว่ามีเพียง พรรคเพื่อไทยเพียงพรรคเดียวที่เป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ และจะสามารถได้ประโยชน์จากกติกาเลือกตั้งใหม่อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ดังนั้นถึงจุดนี้บรรดาพรรคการเมือง นักการเมือง ที่เคยเป็น “มิตรร่วมรบ” ที่ต่อกรกับ “ระบอบทักษิณ” ควรหันกลับมาตั้งหลักให้ดีว่า ในนาทีนี้จะต้องสู้กับใคร ต้องตั้งสติและทบทวนตัวเองให้ดีว่านั่งอยู่บนบัลลังก์อำนาจเพื่อใคร? เพื่อตัวเอง หรือเพื่อประชาชน หากงานนี้ยังตั้งหลักกันไม่ได้ เมื่อเกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยขึ้นจริงๆ ถึงจุดนั้น “พี่น้อง 3 ป.” ก็คงจะอยู่ไม่ได้