นี่ของเก่าที่เรารู้ๆ กัน แต่ของใหม่ที่โผล่ขึ้นมาคือความขัดแย้งในพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่กลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค โดนมติขับออกจากพรรค 21 คน หลายคนเชื่อว่า “บิ๊กตู่” อยู่เบื้องหลังนั่นแหละ เพราะไม่ถูกกับ ร.อ.ธรรมนัสตั้งแต่คราวอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อปีกลาย ที่มีข่าวว่ามีการวิ่งลอบบี้เปลี่ยนตัวนายกฯ

เรื่องนี้ฝุ่นมันยังตลบ สิ่งที่ต้องตามดูคือ 21 ส.ส.จะเล่นเกมในสภาอย่างไร ไม่ต้องเป็นฝ่ายค้านแต่ไม่แสดงตัวเป็นองค์ประชุม ทำสภาล่ม สกัดกฎหมายสำคัญหรือไม่ วางแผนสอย “บิ๊กตู่” ช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจเดือน พ.ค.หรือไม่ และ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร. ยังมีอำนาจชักใยกลุ่มนี้หรือไม่ ..ไม่นานก็รู้

มีแต่คนทายว่า นายกฯ จะชิงลาออกหรือยุบสภา ยุบก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติเดือน พ.ค. หรือชิงยุบสภาหลังร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2566 ผ่านสภา น่าจะเป็นช่วงเดือน ส.ค. แต่ก็มีคนเชื่อว่า “บิ๊กตู่” ยังไม่ยอมแพ้อยู่ต่อ เพื่อเป็นเจ้าภาพจัดงานเอเปค อันนี้พี่ใหญ่ 3 ป.เป็นตัวแปรหนึ่งจะทำให้เสียงรัฐบาลแข็งแรงหรือไม่

อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่ ..เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน แล้วแผ่นดินที่งดงามจะคืนกลับมา.. ที่ยังไม่ควรจะลืมกัน คือเรื่องการ สร้างความปรองดองสมานฉันท์ ที่สมัยรัฐบาล คสช.บอกจะทำแต่ก็เอ้อระเหยไปเรื่อย จนกระทั่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องโพสต์ข้อความเตือน..ไหนว่าจะทำ ก็ทำแบบเสียไม่ได้

คือไปจัดรับฟังความเห็นอะไรต่างๆ ถึงแนวทางปรองดอง สมานฉันท์ ซึ่งไม่รู้ทำกันไปกี่รอบแล้วไอ้เรื่องรับฟังความเห็นนี่ ว่าจะไปแสดงความเห็นบ้างเขาว่าได้เบี้ยประชุม.. แล้วก็สรุปรายงาน ผลออกมาคือตุ๊กตามาสคอตที่ชื่ออะไรก็จำไม่ค่อยจะได้แต่ชาวเน็ตเขาเรียกตุ๊กตาแม่ผ่อง แล้วมันช่วยอะไรได้ในภาวะความขัดแย้งแตกแยกทางความคิด ?

ในที่สุด นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เองนั่นแหละ ที่ต้องกลับมารับบทบาทตั้ง คณะกรรมการปรองดองสมานฉันท์ ขึ้นมา ซึ่งแค่ฟังชื่อหลายคนก็คงอี๋แหวะ ..ตั้งอะไรแบบนี้มากี่ชุดเคยสำเร็จไหม มีแต่ความเห็น แต่ก็ถือว่าเป็นความพยายามของประธานรัฐสภา ที่ผลการประชุมกรรมการน่าจะเสร็จส่งให้นายชวนประมาณปลายเดือนนี้

มีคนทายผลแบบเบะปากรอไว้เลยว่า ก็ไม่น่าจะต่างกับไอ้ที่เคยศึกษาที่ผ่านๆ มา ทั้งเรื่องเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กลุ่มผู้เห็นต่างทางความคิดได้พูดคุยกัน ทำความเข้าใจกัน ต้องมีนโยบายในการลดความเหลื่อมล้ำและการกระจายรายได้ ต้องมีการปฏิรูปการเมืองไม่ให้ใช้กลไกอำนาจเข้าแทรกแซงให้ฝ่ายใดได้เปรียบเมื่อมีการเลือกตั้ง

ซึ่งเป็นข้อเสนอที่ไม่รู้ว่า ในชั้นปฏิบัติใครจะทำ? มีคนแนะนำว่า ถ้าอยากให้การปรองดองเป็นรูปธรรมจริงๆ วิธีที่ง่ายที่สุดคือแก้รัฐธรรมนูญ ตั้ง ส.ส.ร. ใหม่ ยกร่างใหม่ ต้องกำจัดมรดกที่ คสช.วางไว้โดยเฉพาะองค์กรอิสระที่ตั้งมาในยุค คสช. ที่ผลการตัดสินอะไรมักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก แม้แต่ละองค์กรจะยืนยันความเที่ยงธรรมของตัวเอง

เรื่องการกระจายทรัพยากรที่เป็นธรรม อันนี้คิดว่านายทุนเขาจะยอมง่ายๆ ไหม ผูกขาดรวยดีจะตาย ส่วนเรื่องพื้นที่ปลอดภัยให้กลุ่มเห็นต่าง เราก็เห็นได้ว่าปัจจุบันนี้ความขัดแย้งทางความคิดมันลงลึกไปถึงขั้นไหน..คงไม่ต้องพูด แล้วทีนี้กับคนเห็นต่างฝ่ายผู้มีอำนาจมีท่าที “รอมชอมและรับฟัง” อย่างไร มันต้องมีจุดสมยอมที่พบกันได้ แต่ต้องหาให้เจอ

ก็ขอหวัง..ถึงจะลมๆ แล้งๆ ก็เถอะว่า กก.สมานฉันท์ชุดนี้ทำงาน จะลดความขัดแย้งได้.