เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่รัฐสภา นายมงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคไทยศรีวิไลย์ กล่าวถึงกรณีแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) นายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ลงพื้นที่ช่วยนางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ ผู้สมัครเลือกตั้งซ่อม ส.ส.กทม.เขต 9 หาเสียง พื้นที่ตลาดประชานิเวศน์ 1 เมื่อวันที่ 25 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่าตนได้เจอกับนายอนุชาและเห็นว่ามีคนมาช่วยหาเสียงกันเป็นจำนวนมาก ซึ่งมองแล้วเกิน 20 คน จึงเกรงว่าจะผิดกฎหมายเลือกตั้ง พร้อมแนะนำควรไปลงชื่อเป็นผู้ช่วยหาเสียงเพราะเกรงว่าหากไม่ใช่ผู้ช่วยหาเสียงจะมีความผิดตามกฎหมายกฎหมายกำหนดไว้ว่า ให้แต่ละพรรคการเมืองหาเสียงอย่างเท่าเทียมใช้เงินไม่เกินพรรคละ 1,500,000 บาทต่อ 1 เขตการเลือกตั้ง ฉะนั้นจึงมีการจำกัดไม่ให้มีผู้ช่วยหาเสียงแต่ละพรรคเกิน 20 คน และเปลี่ยนได้ไม่เกิน 3 ครั้ง

นายมงคลกิตติ์ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ไม่รู้ว่าวันที่พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค พปชร. ที่ลงพื้นที่ช่วยหาเสียงได้แจ้งเป็นผู้ช่วยหาเสียงหรือไม่ แต่เห็นชูมือสัญลักษณ์เบอร์ 7 อยู่ หากแจกโบรชัวร์ต้องลงเป็นผู้ช่วยหาเสียง จึงขอเตือนไปยัง พล.อ.ประวิตรและรัฐมนตรีทั้ง 2 คน เพราะหากแจ้งชื่อเป็นผู้ช่วยแล้วต้องรับเบี้ยเป็นผู้ช่วยหาเสียงวันละ 315 บาท ถ้าไม่รับถือว่าผิดกฎหมาย และหากรับก็ผิดกฎหมายเช่นกัน ฉะนั้นจะเดินหน้าถอยหลังขอให้ระมัดระวัง เพราะเห็นว่ามีทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมายดีน่าจะรอบคอบนิดหนึ่ง อีกทั้งเวลาที่แต่ละพรรคการเมืองจัดเวทีปราศรัยตามธรรมเนียมประชาชนเป็นของส่วนกลาง ไม่ใช่ของพรรคใดพรรคหนึ่ง ซึ่งพรรคอื่นสามารถเข้าไปแจกโบรชัวร์ได้ เพราะหากห้ามเข้าไปในพื้นที่จะถือว่าเป็นการขัดขวางการเลือกตั้งและการหาเสียง

นายมงคลกิตติ์ กล่าวต่อว่า กรณีที่พรรค พปชร.จัดเวทีปราศรัย ผู้สมัครที่เหลือสามารถเข้าไปพูดคุยกับประชาชนและแจกโบรชัวร์ได้ หากบอกว่ามวลชนกลุ่มนี้ พรรคตนเองจัดมาต้องรวมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งแต่หากประชาชนมาร่วมรับฟังกันเองไม่ใช่การจัดตั้งต้องมีอิสระให้ประชาชนสามารถร่วมฟังและพูดคุยได้ทุกเบอร์ การหาเสียงต้องสามารถไปได้ทุกที่ ไม่สามารถจำกัดได้ เพราะหากมีการจำกัดจะผิด พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 73(5) และมาตรา 71