สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ว่าองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ) รายงานการค้นพบสัตว์และพืชพรรณชนิดใหม่รวม 224 สายพันธุ์ ในเขตอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เมื่อปี 2563


ทั้งนี้ สัตว์และพืชพรรณซึ่งมีการค้นพบใหม่ รวมถึง จิ้งจกนิ้วยาวสายพันธุ์ใหม่ซึ่งพบในไทย ต้นหม่อนพันธุ์ใหม่ในเวียดนาม และกบหัวโตซึ่งพบในเวียดนามและกัมพูชา แม้สิ่งมีชีวิตในพื้นที่แห่งนี้กำลังเผชิญกับ “ภัยคุกคามของการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย” อย่างไรก็ตาม รายงานของดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟระบุว่า การค้นพบครั้งนี้ยังคงบ่งชี้ความสมบูรณ์ของความหลากหลายทางชีวภาพ ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งประกอบด้วย เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม และไทย


ขณะเดียวกัน สถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังสามารถทำให้มนุษย์ได้ประจักษ์ถึง “ความพิเศษเหนือธรรมชาติ” ของระบบนิเวศ ซึ่งสามารถปรับตัวและเอาตัวรอดได้ แม้ต้องเผชิญกับความเสื่อมโทรมและการถูกคุกคาม ซึ่งเกิดขึ้นกับพื้นที่อยู่อาศัย.

เครดิตภาพ : REUTERS