เมื่อวันที่ 27 ม.ค. ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานเชื้อโอมิครอนในประเทศไทยครอบคลุม 90% ซึ่งเป็นไปตามข้อมูลคือความรุนแรงน้อยอัตราการเสียชีวิตต่ำ ส่วนประเด็นเรื่องให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) กระทรวงสาธารณสุขจะไม่รอให้มีการติดเชื้อและกลายเป็นโรคประจำถิ่นตามธรรมชาติ เพราะใช้เวลานาน ดังนั้นสธ.เตรียมบริหารจัดการเพื่อให้โควิดประเทศไทยเป็นโรคประจำถิ่นได้เร็วขึ้น คือยังสามารถติดเชื้อได้ แต่อัตราการเสียชีวิตต้องไม่มาก เช่น อัตราการเสียชีวิต 1 : 1,000 ประชากรที่ป่วย ระบบสาธารณสุขรองรับได้ รักษาได้ ประชากรมีภูมิคุ้มกัน เป็นต้น เมื่อเป็นโรคประจำถิ่นแล้วค่ารักษารัฐยังให้การดูแลรักษาตามสิทธิ ทั้งนี้ไม่ต้องรอองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศก่อน เพราะถ้ารอก็ไม่ทัน

“ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคไปวางแผนเช่นสมมติตั้งเป้าให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นภายใน 1 ปีต้องมีแผนแล้วว่าในช่วง 3 เดือน 6 เดือนแรกต้องทำอะไรบ้างขณะนี้ได้หลักเกณฑ์แล้ว ให้ฝ่ายเกี่ยวข้องหารือต่อไป” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว และว่าส่วนเรื่องการเตือนภัยระดับ 4 ยังคงไว้เหมือนเดิม โดยเน้นในพื้นที่กทม. และจังหวัดสีฟ้า

รายงานข่าวแจ้งว่าสำหรับหลักเกณฑ์การให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นที่มีการสรุปในที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ มีรายละเอียดอาทิ ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน อัตราป่วยตาย น้อยกว่าร้อยละ 0.1 การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10 และประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โด๊ส มากกว่าร้อยละ 80 เป็นต้น

ขณะที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) สรุปภาพรวมโควิดประเทศไทย พบผู้ป่วยรายใหม่ 8,078 ราย, ยอดป่วยสะสม 2,407,022 ราย, รักษาหายเพิ่ม 6,595 ราย , อยู่ระหวางรักษาตัว 82,760 ราย ในจำนวนนี้ อาการหนัก 548 ราย, ใส่เครื่องช่วยหายใจ 102 ราย, เสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย ,ยอดเสียชีวิตสะสม 22,098 ราย, ยอดสะสมผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด 113,622,267 โด๊ส แบ่งเป็นผู้ที่ได้รับวัคซีน เข็มที่ 1 จำนวน 52,174,471 ราย, ผู้ที่ได้รับวัคซีน เข็มที่ 2 จำนวน 48,355,039 ราย, ผู้ที่ได้รับวัคซีน เข็มที่ 3 จำนวน 13,092,757 ราย

ส่วนจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่จำนวนมาก 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.กรุงเทพฯ 1,427 ราย 2.สมุทรปราการ 692 ราย 3.นนทบุรี 460 ราย 4.ชลบุรี 334 ราย 5.ภูเก็ต 332 ราย 6.ขอนแก่น 247 ราย 7.นครศรีธรรมราช 204 ราย 8.ปทุมธานี 195 ราย 9.ราชบุรี 187 ราย 10.อุดรธานี และลพบุรี 129 ราย ด้านจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่น้อยที่สุด คือ อุตรดิตถ์ 2 ราย