นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนและผู้ประกอบการในช่วงเทศกาลตรุษจีน สำรวจช่วงวันที่ 17-24 ม.ค.65ว่า ตรุษจีนปี 65 คาดว่า มีเงินสะพัด 39,627.79 ล้านบาท อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 11 ปีนับตั้งแต่ปี 55 ลดลง 11.82% เทียบจากปีก่อน และปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เนื่องจากมองว่า ราคาสินค้าแพงขึ้น คิดเป็นสัดส่วนการตอบ 61.8% รายได้ไม่เพิ่มขึ้น หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น และผู้ตอบผลสำรวจ 21.9% ระบุว่า จะจ่ายแต๊ะเอียลดลง เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 1,396 บาท

“ถือเป็นปีที่ใช้จ่ายตรุษจีนประหยัดที่สุดจากที่ทำการสำรวจมา และการติดลบปีนี้ต่างจากปีก่อน ที่ติดลบเพราะสถานการณ์การแพร่บาดของโควิด-19 ที่เป็นสาเหตุอันดับ 1 ของปีก่อน แต่ปีนี้กังวลเรื่องปัญหาหนี้เพิ่ม สภาพเศรษฐกิจบอบช้ำ รายได้ไม่ดี คนไม่มีเงิน กำลังซื้อจึงไม่ดี ราคาสินค้าแพง จึงต้องประหยัด ขณะที่ความกังวลต่อโอมิครอนระบาดต่ำกว่าปัจจัยปัญหาปากท้อง แต่เพื่อรักษาธรรมเนียม จึงยังต้องไหว้ และสังเกตได้ว่า ส่วนใหญ่ระบุเพิ่มการซื้อไข่เพิ่ม ทดแทนการซื้อโปรตีนหรือเนื้อสัตว์ที่มีราคาสูงมาก โดยเฉพาะการซื้อเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวัน”

ทั้งนี้การที่วงเงินสะพัดในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ลดลง 5,000 ล้านบาทเทียบจากปีก่อน ส่งผลต่อการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ประมาณ 0.05% แต่ในช่วงเดียวกันรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการคนละครึ่ง คาดว่า พอจะช่วยทดแทนได้ แต่การลดวงเงินคนละครึ่งเหลือคนละ 1,200 บาท จากเดิม 1,500 บาท ทำให้เม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหายไป 18,000 ล้านบาท ส่งผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจหายไป 0.15-0.2%

อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลสามารถควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ให้คลี่คลายได้ภายในไตรมาสแรกของปีนี้ และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดความเชื่อมั่น เชื่อว่า ระบบเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวอีกครั้ง ได้แก่ การออกมาตรการเทสต์ แอนด์ โก, การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร, การเร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเติมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ ขณะที่ปัญหาราคาสินค้าแพงนั้น มาจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งราคาน้ำมันและค่าขนส่ง หากรัฐบาลมีมาตรการช่วยลดต้นทุนการผลิตได้ จะช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายได้

นอกจากนี้ยังได้สำรวจผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าเดือนละ 20,000 บาท จะได้รับผลกระทบต่อความเป็นอยู่ และมีปัญหาหนี้เพิ่มมากขึ้น โดยสามารถทนทานต่อภาระหนี้หากยังไม่มีรายได้เพิ่มได้อีกประมาณ 18 เดือน แต่การเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงในขณะนี้ จะเป็นแรงกดดันเชิงลบต่อระบบเศรษฐกิจ และอาจทำให้ผู้ประกอบการตัดสินใจเลิกจ้างได้