เมื่อวันที่ 31 ม.ค. เวลา 10.00 น. ที่ชั้น 12 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข เดินทางมาตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจ การจัดฉีดวัคซีนโควิด-19 (ไฟเซอร์) สำหรับเด็กอายุ 5-11 ปี เป็นวันแรก ซึ่งเริ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค ได้แก่ 1.โรคอ้วน ที่มีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น 2.โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง รวมทั้งหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง 3.โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง 4.โรคไตวายเรื้อรัง 5.โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ 6.โรคเบาหวาน และ 7.กลุ่มโรคพันธุกรรม รวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง และเด็กที่มีพัฒนาการล่าช้า ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงมีโอกาสติดเชื้อและเสียชีวิตสูง โดยจัดฉีดที่โรงพยาบาล ฉีด 2 เข็ม ห่าง 3-12 สัปดาห์ ตามดุลยพินิจของกุมารแพทย์ผู้ดูแล ซึ่งพิจารณาการฉีดให้เหมาะสมจากประวัติและอาการของผู้ป่วย ส่วนเด็กอายุ 5-11 ปีที่ไม่มีโรคประจำตัวจะมีการจัดฉีดโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานต่อไป

ทั้งนี้ เด็กอายุ 5-11 ปี ในไทยมีประมาณ 5.8 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นเด็กกลุ่มเสี่ยงประมาณ 9 แสนคน โดยอยู่ในการดูแลของรพ.เด็กประมาณ 4 พันคน ส่วนการฉีดวัคซีนในวันแรกนี้จะดำเนินการฉีดให้เด็กกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด 150 คน โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก เด็กที่เข้ารับการฉีดไม่ค่อยงอแง

พร้อมกันนี้ เนื่องในเทศกาลตรุษจีน เลข 8 เป็นเลขมงคล สถาบันเด็กแห่งชาติจึงได้มอบอั่งเปา 8 โครงการ ประกอบด้วย โครงการนมแม่ในเด็กป่วย  โครงการฮีโร่คนใหม่หัวใจแข็งแรง โครงการอยู่เพื่อยิ้ม โครงการหยุดลมชักให้ชีวิตได้ไปต่อ โครงการโครงการการคัดกรองและบริบาลผู้ป่วยโรคหายาก โครงการวัคซีนป้องกัน covid-19 ในเด็กอายุ 5 ถึง 11 ปี โครงการพัฒนาระบบบริการสุขภาพเพื่อทารกแรกเกิดต้องรอด และโครงการสร้างเครือข่ายพัฒนาการเด็กโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติทั่วประเทศ

นายอนุทิน กล่าวว่า วันนี้เป็นวันดีที่จะได้ฉีดวัคซีนให้กับลูกหลานอายุ 5-11 ขวบ ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขตั้งหน้าตั้งตารอให้ได้วัคซีนที่ถูกต้องได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งเพิ่งเจ้ามาถึงประเทศไทยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวน 3 แสนโด๊ส และจะเข้ามาสัปดาห์ละ 3 แสนโด๊ส ต่อเนื่องจนครบจำนวนการสั่งซื้อทั้งหมด 10 ล้านโด๊ส ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 เดือนก็จะครอบคลุมทั้งหมด อย่างไรก็ตามจากการหารือผู้บริหารไฟเซอร์ประเทศไทยในการประชุมหอการค้าไทย ระบุว่า จะเพิ่มจำนวนการจัดส่งในแต่ละสัปดาห์ให้มากกว่า 3 แสนโด๊ส จากนี้จะมีการแก้ไขสัญญาต่อไป ซึ่งจะทำให้การส่งเร็วขึ้นมาอีก 1 เดือน ขณะเดียวกันขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมการแพทย์ กรมอนามัย เตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนสำหรับเด็กเร็วที่สุด

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขขอให้ความมั่นใจแก่พ่อแม่ ผู้ปกครอง วัคซีนที่เราได้จัดมาให้ลูกหลานเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัยมีมาตรฐาน วิธีการฉีดก็ผ่านคณะกรรมการวิชาการหลายท่านซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นอาจารย์แพทย์ที่มีความรู้ในเรื่องของการฉีดวัคซีน อาการข้างเคียงอาจจะเกิดขึ้นได้ อาจจะมีบ้างแต่ไม่ใช่สิ่งที่อันตราย ในช่วงแรกขอให้กรมการแพทย์ทำความเข้าใจกับบรรดาผู้ปกครองให้ทราบถึงอาการข้างเคียง และการดูแล ทั้งนี้หวังว่าประเทศไทยน่าจะเป็นประเทศแรกที่สามารถครอบคลุมการฉีดวัคซีนให้กับประชากรทุกช่วงวัย ซึ่งเราตั้งใจทำและทำให้มากที่สุด หากวันไหนมีวัคซีนไปถึงทารกแรกเกิดได้ก็พร้อมที่จะจัดหามาให้ลูกหลานทุกคนต่อไป เพื่อให้ประเทศเข้าสู่ภาวะปกติมากที่สุด

นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ตนได้รับรายงานจาก นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ว่าวัคซีนซิโนแวคได้มายื่นเอกสารเพื่อขึ้นทะเบียนการฉีดให้กับเด็กตั้งแต่ 3 ขวบขึ้นไป ซึ่งเด็ก 3 ขวบส่วนใหญ่จะอยู่ที่บ้านพ่อแม่ต้องออกไปทำงาน พี่น้องออกไปเรียนหนังสือมีโอกาสที่จะรับเชื้อจากข้างนอกเข้ามาติดได้ ยิ่งมีผู้สูงอายุอยู่ในบ้านก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยง ดังนั้นหากเราสามารถฉีดวัคซีนให้กับเด็กทุกกลุ่มวัยได้ก็จะเท่ากับเป็นการลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้มาก และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันได้อนุมัติให้ฉีดวัคซีนซิโนแวคในเด็กได้หาก ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ฉีดในเด็กแล้ว หวังว่าวัคซีน ป้องกันโควิดในประเทศไทยจะสามารถฉีดวัคซีนให้กับเด็กอายุ 3 ขวบขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุได้ อยากทราบผลข้างเคียงจากวัคซีนมีไข้ตัวรุมๆ แต่ถ้าติดเชื้อเสี่ยงที่จะอาการรุนแรง เสือลงปอดจะอันตรายยากลำบากในการรักษา และเสียงแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น ดังนั้นการฉีดวัคซีนจึงคุ้มค่าที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้

ด้าน นางนพวรรณ กิจพล อายุ 34 ปี ผู้ปกครองเด็กชายอายุ 8 ขวบ กล่าวว่า ที่บ้านตนไม่ได้มีกลุ่มเสี่ยงแต่เนื่องจากพ่อแม่ ต้องออกมาทำงานนอกบ้านทุกวัน ประกอบกับลูกชายมีโรคประจำตัว คือโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง จึงได้รับคำแนะนำจากคุณหมอให้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ซึ่งยอมรับว่าในช่วงแรกมีความกังวล เกี่ยวกับเรื่องผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก โดยเฉพาะภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ แต่ทางโรงพยาบาลได้ให้ข้อมูลจนสร้างความมั่นใจว่าวัคซีนไปเซอร์สำหรับเด็กนั้นมีความปลอดภัย ทำให้มีความเชื่อมั่นมากขึ้นและตัดสินใจพาลูกเข้ารับการฉีดวัคซีน หลังจากนี้ก็ได้รับคำแนะนำให้ดูแล และสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีน คือ งดออกกำลังกาย และทำแบบประเมินอาการ หากมีเรื่องฉุกเฉินสามารถพาลูกกลับมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเด็กได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับขั้นตอนการฉีดวัคซีน โดยส่วนขั้นตอนการเข้ารับบริการ คือ มาถึงจุดบริการเข้ารับการตรวจคัดกรอง เพื่อประเมินสภาพอาการผู้ป่วย ซึ่งข้อควรระวังที่ควรชะลอหรือเลื่อนฉีดไปก่อน คือ 1. ขณะป่วยมีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย ควรรักษาให้หายดีก่อน จนกว่าจะเป็นปกติ หรือ 2.เด็กที่มีโรคประจำตัวอาการรุนแรงที่อาจอันตรายถึงเสียชีวิต อาการไม่คงที่ ให้รักษาโรคประจำตัวให้ดีก่อน  หากสามารถเข้ารับการฉีดได้จะเข้าสู่ขั้นตอนการลงทะเบียน มีการเซ็นใบยินยอม จากนั้นจึงรอเข้าห้องฉีดวัคซีน และสังเกตอาการ 30 นาทีก่อนกลับบ้าน โดยอาการหลังฉีดวัคซีนที่ควรรีบพามา รพ.ใกล้บ้านทันทีเพื่อประเมินอาการ คือ 1.กลุ่มโรคหัวใจในช่วง 2-7 วัน ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น ซึ่งตามสถิติมักพบในช่วงวันที่ 2 ของการฉีด แต่หากเกิดในวันแรกก็พามาได้เช่นกัน และ 2.กลุ่มอาการอื่น คือ ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดหัวรุนแรง อาเจียนทานอะไรไม่ได้ เด็กซึมหรือไม่รู้สึกตัว วันเดียวกัน เวลา 10.30 น. ที่บริเวณด้านข้างอาคารเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) พบประชาชนจำนวนหนึ่งรวมตัวกันมาถือป้าย พร้อมตะโกนด่ากรณีมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กลุ่มเด็กว่าเป็นการเอาเด็กเป็นหนูทดลอง ทั้งที่วัคซีนไม่สามารถป้องกันโรคได้ แถมยังมีผลข้างเคียง ประชาชนไม่มีเสรีภาพในการฉีดวัคซีน พร้อมกันนี้ผู้ชุมนุมบางรายยังมีการเข้าไปพูดคุยกับพ่อ แม่ ผู้ปกครองคนอื่นๆ เพื่อชี้นำไม่ให้พาลูกหลานเข้าฉีดวัคซีน.