นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาสัดส่วนการผสมไบโอดีเซล (บี 100) ในภาวะวิกฤติด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยกำหนดแนวทางบริหารในภาวะราคาน้ำมันปกติเป็น 2 ระยะ ดังนี้ 1. ระยะสั้น (ปี 65-66) กำหนดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 2 เกรด คือ น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7 และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 สำหรับใช้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่ จากปัจจุบันดีเซลมี 4 เกรด บี 7, บี 10, บี 20 และดีเซลเกรดพรีเมียม 2. ระยะยาว ปี 67 เป็นต้นไป จะกำหนดน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7 เกรดเดียว

“ตอนนี้แนวทางสถานการณ์ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในภาวะวิกฤติ ในกรณีราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว 30 บาทต่อลิตร โดยไม่มีการชดเชยราคาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง กบง.ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปหารือแนวทางที่เหมาะสม คำนึงถึงปัจจัยต่างๆ พิจารณาผลกระทบให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งระยะสั้น และระยะยาวต่อไป”

นอกจากนี้ยังมีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยมีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้นในระยะสั้น ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.-31 มี.ค. 65 ซึ่งกำหนดสัดส่วนการผสม บี 100 ประเภทเมทิลเอสเตอร์ของกรดไขมันให้เป็นไปตามสัดส่วนการผสมของกลุ่มน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว โดยน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7 ไม่ต่ำกว่า 5% และไม่สูงกว่า 7% โดยปริมาตร น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา ไม่ต่ำกว่า 5% และไม่สูงกว่า 10% โดยปริมาตร และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ไม่ต่ำกว่า 5% และไม่สูงกว่า 20% โดยปริมาตร โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ออกประกาศ เรื่อง กำหนดลักษณะและคุณภาพของน้ำมันดีเซล พ.ศ. …. ให้สอดคล้องกับมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาน้ำมันเชื้อเพลิง โดยการลดสัดส่วนผสมของไบโอดีเซลลงจะเป็นการดำเนินการระยะสั้น

“มอบหมายให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) นำเสนอมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วที่ปรับตัวสูงขึ้น ต่อคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติเพื่อทราบต่อไป”

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงาน สมัย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็น รมว.พลังงาน ประกาศให้น้ำมันดีเซล บี 10 เป็นน้ำมันเกรดมาตรฐาน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 63 เพื่อสร้างสมดุลปาล์มน้ำมันในประเทศทั้งระบบ ราคาปาล์มมีเสถียรภาพ รวมทั้งช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มดิบในไทย โดยให้น้ำมันดีเซล บี 7 เป็นน้ำมันทางเลือกจะยังไม่มีการยกเลิก เนื่องจากยังมีรถรุ่นเก่าบางรุ่นที่ยังใช้บี 10 ไม่ได้ ซึ่งผู้ค้าน้ำมัน เพิ่งเปลี่ยนป้ายน้ำมันดีเซลบี 10 เป็นดีเซล ซึ่งการกลับมาเปลี่ยนน้ำมันดีเซล เกรดมาตรฐาน จาก บี 10 มาเป็น บี 7 ครั้งนี้ คาดว่า เป็นผลจากรถยนต์รุ่นเก่าบางรุ่น ยังไม่สามารถใช้ได้ แม้กระทรวงพลังงาน พลังงานรณรงค์ให้รถมาใช้ดีเซลบี 10 แต่ยอดปริมาณการใช้ยังไม่เพิ่มขึ้นมาก และการบริหารจัดการต้นทุน บี10 สูงกว่า บี 7 อีกด้วย รวมทั้งผู้ค้าน้ำมันยังยุ่งยากในการบริหารจัดการน้ำมันหลายประเภทอีกด้วย